9/20/2554

กล้วยหอม สารพันสรรพคุณ

วันนี้ว่างๆ ก็อยากจะนำเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ ของกล้วยหอม มาเล่าให้ฟัง เมื่อพูดถึงผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ส่วนมากคงจะนึกถึงทุเรียนเป็นอันดับแรก รองลงมากก็คงจะเป็นมังคุด ละมุด ลำไย ขนุน มะม่วง องุ่น แต่รู้หรือไม่ว่ากล้วย ก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ให้พลังงานสูงไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะกล้วยหอมเป็นอีกหนึ่งผลไม้ไทยที่มีผลงานวิจัยแล้วว่า เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ที่ร่างกายควรได้รับ และให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยเลยทีเดียว

เนื่องจากว่า ในกล้วยหอมนั้นมีน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซุคโคส ฟรักโตส และกลูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้นร่างกายเราจะได้รับพลังงานและสามารถนำไปใช้ได้ทันที ผลจากการวิจัย แค่กล้วยหอมเพียง 2 ลูก ก็สามารถให้พลังงานกับเราได้มากถึง 90 นาที ด้วยเหตุนี้นักกีฬาโดยเฉพาะนักเทนนิส จึงนิยมนำไปรับประทานระหว่างการแข่งขัน เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย และสามารถนำไปใช้ได้ทันทีนั่นเอง

นอกจากคุณประโยชน์ในแง่สารอาหารแล้ว กล้วยหอมยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

1.ลดอาการซึมเศร้า

มีการศึกษาทดลองกับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อให้รับประทานกล้วยหอมแล้ว ทำให้รู้สึกดีขึ้น ทั้งนี้ในกล้วยหอมมีสาร Tryptophan เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ร่างกายสามารถแปลงเป็น Serotonin สารกระตุ้นที่ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์สดใสและมีความสุข

2.pms. (Premenstrual syndrome)

เป็นอาการของคุณผู้หญิงในช่วงระหว่างก่อนมีหรือมีประจำเดือน อารมณ์จะหงุดหงิดแปรปรวนง่าย รวมไปถึงอาการปวดหัว ปวดท้อง หากรับประทานกล้วยหอมก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

3.โรคโลหิตจาง

ในกล้วยหอมจะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง ฮีโมโกลบิน ให้กับเม็ดเลือดแดง จะช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางได้

4.ช่วยลดความดันโลหิต

กล้วยหอมมีสารอาหารทั้งวิตามินและเกลือแร่อยู่หลายชนิด เกลือแร่ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ โพแทสเซียม จากการวิจัยยืนยันแล้วว่าโพแทสเซียมในผลไม้ สามารถช่วยลดความดันโลหิตให้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงได้

5.เพิ่มพลังสมอง

สารอาหารที่อยู่ในกล้วยหอมสามารถกระตุ้นความตื่นตัวให้กับสมองได้ จากการวิจัยเด็กนักเรียนในประเทศอังกฤษกลุ่มหนึ่งพบว่า การรับประทานกล้วยหอมเป็นอาหารเช้าก่อนเข้าห้องสอบ จะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ และทานอีกในช่วงกลางวัน จะทำให้รู้สึกสดชื่นและตื่นตัวได้

6.ลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมอง

การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมจะช่วยลดภาวะจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้นกล้วยเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

7.ลดการเกิดก้อนนิ่วในไต

บางครั้งแคลเซียมจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะเรามาก ทำให้ไตทำงานหนักจะอาจะเกิดเป็นก้อนนิ่วได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมอย่างกล้วยหอมจะช่วยให้ลดการเกิดนิ่วในไตได้

8.ลดการเกิดแผลในกระเพาะและลำไส้

กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารอยู่มาก ใยอาหารเหล่านี้จะไปช่วยให้ลำไส้เล็กย่อยอาหารได้ดีขึ้น รวมถึงยังช่วยเคลือบกระเพาะอาหารให้ลดการระคายเคืองของกรดต่าง ๆ ไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการท้องผูกอีกด้วย

9.ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง

ในกล้วยหอมจะมีสารลดกรดธรรมชาติ การรับประทานกล้วยหอมจึงสามารถแก้อาการดังกล่าวได้

10.กล้ามเนื้อเป็นตะคริว

คนที่กล้ามเนื้อเป็นตะคริวนั้นส่วนหนึ่งมาจากการขาดโพแทสเซียม หรือมีโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ การทานกล้วยหอมเป็นประจำจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้

11.ระบบประสาท

ในกล้วยหอมนอกจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียมแล้วยังมีวิตามินบีอยู่อีกมาก วิตามินบีจะช่วยเรื่องระบบประสาทในร่างกาย และการทำงานของสมองให้สมดุล

กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่หาทานได้ง่าย แถมยังเป็นที่นิยมส่งออกให้กับต่างประเทศอีกด้วย สรรพคุณมากมายอย่างนี้ ไม่หามาทานคงไม่ได้แล้วล่ะ

ที่มา : Never-Age.com

9/06/2554

เริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจอย่างมืออาชีพ

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่แล้ว การจัดทำแผนธุรกิจหรือการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งฉบับ ถือได้ว่าเป็นปัญหาหรือสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่ได้เคยผ่านการอบรมเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจจากหน่วยงานอบรมต่างๆมาบ้างแล้วก็ตาม เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือแม้แต่กรณีที่มีคู่มือการเขียนแผนธุรกิจประกอบการจัดทำแผนธุรกิจ แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไรดี

จากปัญหาดังกล่าวผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรจะได้กล่าวถึงขั้นตอนในการเริ่มต้นการเขียนแผนธุรกิจ แบบง่ายๆไม่ซับซ้อนซึ่งจะช่วยเป็นแนวทางเริ่มต้นในการจัดทำหรือการเขียนแผนธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการเป็นลำดับ ให้สามารถใช้เป็นแนวทางเริ่มต้นก่อนที่จะได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการในการจัดทำหรือการเขียนแผนธุรกิจโดยละเอียดในโอกาสต่อไป โดยขั้นตอนการเริ่มต้นในการเขียนแผนธุรกิจสามารถแบ่งออกได้โดยสังเขปเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย


  • เลือกธุรกิจ

  • รวบรวมข้อมูล

  • วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ธุรกิจ

  • กำหนด Business Model

  • เริ่มต้นเขียนแผน 



     เลือกธุรกิจ การเลือกธุรกิจในที่นี้หมายถึงถ้าผู้ประกอบการ มีความประสงค์ต้องการจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้จัดทำแผนธุรกิจ ยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรดีหรือจะเลือกธุรกิจใดมาจัดทำหรือเขียนแผนธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนเป็นลำดับแรก คือจะเลือกธุรกิจอะไรที่เหมาะสมกับตนเอง หรือเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการเขียน โดยถ้าแบ่งประเภทหรือลักษณะธุรกิจตามข้อกฎหมายของ SMEs คือ กฎกระทรวง กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545
ซึ่งได้กล่าวถึงลักษณะของกิจการ SMEs รวม 4 ลักษณะ อันประกอบด้วย กิจการการผลิต กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือถ้าไม่แบ่งตามลักษณะของข้อกฎหมาย โดยแบ่งตามลักษณะรูปแบบการดำเนินการ เช่น

  1. ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ (Product business)

  2. ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคล (Personal product business)

  3. ธุรกิจบริการ (Service business)

  4. ธุรกิจบริการเฉพาะบุคคล (Personal service business)

  5. ธุรกิจการค้า (Retail business)

  6. ธุรกิจด้านการจัดจำหน่าย (Distribution business)

  7. ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหรือด้านอินเตอร์เน็ต (Technology-based business or Internet-based business)


หรืออาจจะแบ่งลักษณะธุรกิจตามเกณฑ์กำหนดอื่นๆ เช่น เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ตาม แต่ละลักษณะของธุรกิจนั้นก็จะมีชนิดของรูปแบบกิจการแยกย่อยออกไปอย่างมากมาย ซึ่งผู้ประกอบการจะเลือกทำธุรกิจอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผู้ประกอบการด้วย เช่น อุปนิสัย ความรู้ความชำนาญ การศึกษา ความชอบ สภาพครอบครัว ทุนทรัพย์ รวมถึงปัจจัยประกอบอื่นๆ เช่น เครือข่ายทางการค้า ความสัมพันธ์กับคู่ค้า เป็นต้น

ในการตัดสินใจเลือกว่าจะดำเนินธุรกิจอะไร แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ การเลือกธุรกิจถือเป็นก้าวแรก ที่จะตัดสินว่าผู้ประกอบการจะมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะธุรกิจแต่ละชนิดหรือแต่ละประเภท จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป มีจุดเด่นและจุดด้อยของธุรกิจที่แตกต่างกัน มีโครงสร้างการลงทุนที่แตกต่างกัน มีลักษณะลูกค้าที่แตกต่างกัน มีลักษณะของการได้มาซึ่งรายได้ และค่าใช้จ่ายในต้นทุนของธุรกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ทำให้ธุรกิจแต่ละประเภทมีวิธีการกำหนดกลยุทธ์ และวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันก็ตาม

โดยเป็นผลเกี่ยวข้องจากพื้นฐานของผู้ประกอบการตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการได้มีการกำหนด และเลือกประเมินธุรกิจจากองค์ประกอบของตนอย่างรอบคอบ ก็จะสามารถเลือกธุรกิจที่เหมาะสมในการดำเนินการได้ไม่ยากนัก ถ้าผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเอง ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ หรือเกิดปัญหาน้อยกว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ตนเองไม่ถนัด หรือไม่มีความชำนาญ หรือไม่เหมาะสมกับข้อจำกัดที่ตนเองมีอยู่ โดยธุรกิจที่เลือกนั้นควรจะเป็นธุรกิจที่มีลักษณะพื้นฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประการนี้ คือ สามารถตอบสนองต่อความต้องการ หรือสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ของลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ หรือเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด ซึ่งลักษณะพื้นฐานทั้ง 2 ประการนี้ จะเป็นตัวเสริมให้ธุรกิจสามารถดำเนินการ หรือสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆที่มีอยู่ได้

โดยสำหรับประเด็นของการเลือกธุรกิจนี้ อาจจะมิได้ถือเป็นสาระสำคัญนักของการเริ่มต้นการเขียนแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการโดยทั่วไป เนื่องจากก่อนหน้าที่จะได้มีการเขียนแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการก็มักจะมีธุรกิจที่เลือกจะดำเนินการมาเรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว แต่ที่ต้องมีการเขียนแผนธุรกิจ เนื่องจากต้องใช้เป็นเครื่องมือในการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือใช้เพื่อการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างที่ได้เคยกล่าวมาแล้วการใช้ประโยชน์จากแผนธุรกิจ

ซึ่งถ้าเป็นกรณีดังกล่าวอาจข้ามขั้นตอนแรกในการเลือกธุรกิจ ไปสู่ขั้นตอนที่สอง คือการรวบรวมข้อมูลธุรกิจได้เลย แต่ขั้นตอนการเลือกธุรกิจนี้ จะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าเป็นการเขียนแผนธุรกิจสำหรับการเรียนในสถาบันการศึกษา การอบรมจากหน่วยงานให้การอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการประกวดแข่งขันการเขียนแผนธุรกิจ เพราะการเลือกธุรกิจที่อยู่ในความต้องการของตลาด เป็นธุรกิจใหม่หรือมีแนวคิดทางการตลาดใหม่ๆ เป็นธุรกิจที่เน้นความเป็นนวัตกรรม หรือเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์หรือเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อประเทศ ย่อมสร้างความได้เปรียบในการจัดทำแผนธุรกิจ และการนำเสนอเพื่อการแข่งขันมากกว่าธุรกิจพื้นฐานโดยทั่วไป

โดยการเลือกธุรกิจดังกล่าวนี้ต้องเป็นการเลือกธุรกิจที่ดี (Choose a good business) ซึ่งธุรกิจที่ดีนั้นหมายถึงเป็นธุรกิจซึ่งเหมาะสมกับตัวผู้ประกอบการ หรือมีความเหมาะสมหรือมีความได้เปรียบ เมื่อใช้ในการศึกษาหรือการประกวดแข่งขัน เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้จัดทำแผนธุรกิจสามารถหา หรือรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้อย่างเหมาะสมในขั้นตอนต่อไป

ซึ่งถ้าผู้ประกอบการยังไม่มีแนวทางหรือความคิดเกี่ยวกับธุรกิจอะไรที่เหมาะสมกับตนเอง ก็อาจใช้วิธีการดูตัวอย่างรูปแบบธุรกิจ หรือการดำเนินธุรกิจจากแหล่งข้อมูลภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปตลาดนัด งานแสดงสินค้า งานแสดงนิทรรศการ เป็นต้น หรือการดูรายการทีวี หรือรายการวิทยุที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ หรือการศึกษาจากแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs เช่น จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม www.sme.go.th กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม www.dip.go.th หรือจากหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นต้น จากนิตยสารด้านการประกอบธุรกิจ เช่น SMEs Today SMEs Thailand จากหนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจ เช่น ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ ในคอลัมน์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs จากนิตยสารด้านการตลาด เช่น Brand Age Marketteer Positioning หรือจากหนังสือในด้านธุรกิจ SMEs ที่มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวความคิดใหม่ๆ ในการเลือกธุรกิจที่ดีหรือเป็นธุรกิจที่เหมาะสม ในการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจได้เป็นอย่างดี

     รวบรวมข้อมูล การรวบรวมข้อมูลในที่นี้หมายถึงการเก็บ คัดเลือก หรือรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเป็นข้อมูลที่จำเป็นของธุรกิจ เพื่อใช้ในการเขียนหรือใช้เพื่อเป็นเอกสารประกอบของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนของเอกสารหลักฐานสำคัญของธุรกิจ เอกสารประกอบ สถิติ ข้อมูลอ้างอิงต่างๆ โดยข้อมูลที่ต้องรวบรวมในขั้นตอนนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลภายใน (Internal data) และข้อมูลภายนอก (External Data) โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ

     ข้อมูลภายใน (Internal Data) เป็นข้อมูลของธุรกิจหรือเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในตัวธุรกิจเอง ข้อมูลประเภทนี้ได้แก่ ข้อมูลหรือเอกสารพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีของธุรกิจ ได้แก่ เอกสารสำคัญต่างๆ เช่น หนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ ทะเบียนผู้ถือหุ้น สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ใบอนุญาตประกอบกิจการ งบการเงินย้อนหลัง สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารย้อนหลัง ซึ่งถือเป็นเอกสารหรือข้อมูลพื้นฐานโดยทั่วไป

นอกจากนี้อาจมีเอกสารเกี่ยวกับการตัดสินใจของธุรกิจ หรือข้อมูลการแสดงรายละเอียดของธุรกิจอื่นๆ เช่น รายงานการประชุม มติผู้ถือหุ้น รายงานประจำปี เป็นต้น นอกจากเอกสารพื้นฐานแล้ว ยังอาจมีการเตรียมเอกสารบางอย่างที่ธุรกิจได้จัดทำขึ้นไว้ เพื่อใช้ในการโฆณาประชาสัมพันธ์หรือแจ้งข้อมูลให้แก่ลูกค้าทราบ เช่น Company Profile โบรชัวร์ แผ่นพับ เมนู เอกสารแสดงรายการราคาสินค้า เป็นต้น ข้อมูลหรือเอกสารที่มีความเกี่ยวโยงกับบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า เจ้าหนี้ หรือบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใดๆก็ตาม เช่น สัญญาการใช้วงเงินกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทั้งระยะสั้นหรือระยะยาว สัญญาเช่าต่างๆ เช่น สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาเช่าอาคาร สัญญาเช่าพื้นที่ สัญญาข้อตกลงทางการค้า ใบรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ เช่น มาตรฐาน มผช. มาตรฐาน มอก. มาตรฐาน ISO มาตรฐาน HACCP มาตรฐานการผลิต GMP มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับ หรือรางวัลต่างๆที่ธุรกิจได้รับจากหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้นแล้วแต่กรณี

นอกจากข้อมูลในรูปเอกสารดังกล่าว ยังมีข้อมูลประเภทอื่นๆที่ควรจัดเตรียมหรือรวบรวมไว้ เช่น ภาพถ่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของธุรกิจ ภาพถ่ายสถานประกอบการทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งควรบันทึกในแบบ File digital แผนผังขั้นตอนกระบวนการในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดองค์กร เช่น แผนผังองค์กร (Organization Chart) อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าแรง และประวัติบุคคล (Resume) ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน ของผู้จัดการหรือกรรมการหรือผู้บริหารหลักของธุรกิจ ประวัติความเป็นมาของธุรกิจ หรือแนวคิดถึงเหตุผลในการจัดตั้งธุรกิจ อุปสรรค ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง โดยอาจมาจากการสัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลโดยเจ้าของกิจการ

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักถูกใช้เขียนในส่วนของแผนบริหารจัดการ และเป็นเอกสารแนบในภาคผนวก นอกจากข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลทั่วไปในการดำเนินการของธุรกิจ ยังควรมีการเตรียมข้อมูลด้านเงื่อนไขการค้า และสถิติต่างๆในการดำเนินการของธุรกิจประกอบด้วย นโยบายเครดิตการค้า ทั้งฝั่งลูกหนี้การค้าและฝั่งเจ้าหนี้การค้า นโยบายการบริหารเงินสด นโยบายการบริหารเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น สถิติเกี่ยวกับสินค้าแต่ละประเภท ยอดขายสินค้าในแต่ละเดือน ต้นทุนการผลิตหรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจในแต่ละเดือนที่ผ่านมา รายชื่อคู่ค้า เป็นต้น โดยถ้าสามารถแยกรายการต่างๆได้โดยละเอียดจะเป็นสิ่งดีมากถ้าทำได้ เพราะแม้ว่าจะมีข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายกันระบุไว้ในงบการเงินของกิจการ แต่เนื่องจากงบการเงินเป็นการสรุปผลรายปี และมักไม่แยกค่าใช้จ่ายในทุกๆรายการ ทำให้อาจจะไม่เห็นภาพของข้อมูลดังกล่าวของธุรกิจได้อย่างชัดเจน

     ข้อมูลภายนอก (External Data) เป็นข้อมูลจากแหล่งภายนอกธุรกิจที่มีความสัมพันธ์หรือมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น รายละเอียดของธุรกิจคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อของธุรกิจ ลักษณะและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ รูปแบบ ลักษณะ การตั้งราคา เงื่อนไขทางการค้า จุดเด่นหรือจุดด้อยต่างๆที่มีอยู่ หรือถ้าสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย หรือต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆของธุรกิจคู่แข่งได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยเฉพาะถ้าจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ของผู้ประกอบการเอง

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวควรมีรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะข้อมูลต่างๆของธุรกิจคู่แข่งนี้ จะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบในส่วนของการวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรม การจัดทำ SWOT Analysis หรือการวิเคราะห์คู่แข่งขัน เพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ในแผนการตลาดต่อไป โดยข้อมูลของคู่แข่งขันนี้ควรรวบรวมโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือคู่แข่งขันหลัก (Major competitor) ได้แก่ ธุรกิจที่มีลักษณะและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ แบบเดียวกันกับธุรกิจของผู้ประกอบการ และคู่แข่งขันรอง (Minor competitor) ซึ่งเป็นธุรกิจที่อาจมีลักษณะและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ แตกต่างจากธุรกิจของผู้ประกอบการ แต่อาจถือได้ว่าเป็นสินค้าทดแทน ที่ลูกค้าสามารถซื้อหรือเลือกใช้ได้ ในกรณีที่ไม่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการของผู้ประกอบการ โดยการหาหรือรวบรวมข้อมูลของคู่แข่งขันนี้ อาจแบ่งจากเขตพื้นที่ครอบคลุมในการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้า จากจำนวนยอดขาย จากขนาดของธุรกิจ จากระยะทางหรือระยะการเดินทางของลูกค้า ตามความเหมาะสม

โดยควรให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับขนาดธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งข้อมูลของธุรกิจคู่แข่งขันนี้ควรมีทั้งที่ดีกว่าหรือใหญ่กว่า เทียบเท่าหรือใกล้เคียง และที่ด้อยกว่าหรือเล็กกว่า จึงจะถือเป็นข้อมูลที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอ้างอิงต่างๆ เพื่อใช้ประกอบในการสร้างความน่าเชื่อถือของแผนธุรกิจ เช่น ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ข้อมูลสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม แนวโน้มต่างๆของธุรกิจ ข้อมูลบทวิจัยหรือผลงานวิจัยต่างๆ กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของธุรกิจ ซึ่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆเหล่านี้ สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นต้น และข้อมูลด้านการตลาด ผลสำรวจหรือข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ผลการดำเนินการต่างๆของธุรกิจ ซึ่งมีทั้งจากในส่วนของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนต่างๆ และจากหนังสือพิมพ์ นิตยสารด้านการตลาด การดำเนินธุรกิจ เช่น ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ ในคอลัมน์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs หรือนิตยสารด้านการตลาด เช่น Brand Age Marketteer Positioning เป็นต้น

ซึ่งข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้มักจะใช้ประกอบ ในส่วนของการระบุถึงสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในภาพรวม การแสดงถึงแนวโน้มการเติบโต ซึ่งจะใช้เป็นสิ่งสนับสนุนเกี่ยวกับการกำหนดการเปลี่ยนแปลงในประมาณการต่างๆ เช่น จำนวนลูกค้า จำนวนยอดขายสินค้า มูลค่าของรายได้ เป็นต้น และข้อมูลจากแหล่งภายนอกที่กล่าวถึงธุรกิจ เช่น บทสัมภาษณ์หรือบทความที่กล่าวถึงตัวธุรกิจ รายการวิทยุ หรือรายการโทรทัศน์ที่ได้เชิญผู้ประกอบการไปสัมภาษณ์ เป็นต้น

โดยถ้าผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนธุรกิจ สามารถหาหรือรวบรวมข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในได้เป็นจำนวนที่เพียงพอและเหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เขียนแผนในการวิเคราะห์ตลาดอย่างถูกต้องในขั้นตอนต่อไป รวมถึงเป็นการสะดวกในการเขียนรายละเอียดต่างๆในแผนธุรกิจ รวมถึงการจัดทำภาคผนวกหรือเอกสารแนบของแผนธุรกิจในภายหลังอีกด้วย

     วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ธุรกิจ จะหมายถึงการนำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวม มาทำการวิเคราะห์สภาพของตลาดโดยทั่วไป และสภาพของธุรกิจที่เป็นอยู่หรือที่เลือกจะดำเนินการนั้น ว่ามีสภาพเป็นเช่นใด โดยขั้นตอนการวิเคราะห์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือการวิเคราะห์ตลาดซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอก และการวิเคราะห์ธุรกิจซึ่งถือเป็นปัจจัยภายใน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์ปัจจัยของธุรกิจหรือสถานการณ์ของธุรกิจ ที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่าการวิเคราะห์ SWOT หรือ SWOT Analysis อันเป็นการวิเคราะห์ จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และอุปสรรคหรือภาวะคุกคาม (Threats) ของธุรกิจ

แต่ในขั้นตอนนี้จะไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะเป็นการพิจารณาตามที่มีอยู่เท่านั้น ซึ่งการพิจารณาหรือการวิเคราะห์นี้จะเป็นด้านใดก่อนก็ได้ คือพิจารณาหรือวิเคราะห์จากธุรกิจ แล้วจึงค่อยไปดูในส่วนของตลาดก็ได้ แต่ที่เหมาะสมคือการวิเคราะห์จากภายนอกเข้ามาภายในคือ การวิเคราะห์จากสภาพตลาดตามข้อมูลที่มีอยู่ แล้วจึงมาวิเคราะห์ว่าธุรกิจมีความพร้อมหรือเหมาะสม กับสภาพตลาดหรือไม่ หรือเป็นการคิดแบบ Outside In ขั้นตอนการวิเคราะห์ตลาดและวิเคราะห์ธุรกิจนี้ ไม่จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ในเชิงลึก เพียงแต่ให้ทราบรายละเอียดโดยสังเขปว่า ตามข้อมูลที่ผู้ประกอบการหรือผู้จัดทำแผนมีอยู่นั้น สามารถบอกได้ว่าสภาวะตลาดและอุตสาหกรรมเป็นเช่นใด อยู่ในภาวะการขยายตัวหรือหดตัว สภาพของการแข่งขัน รายละเอียดของคู่แข่ง มีความเพียงพอที่จะกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการหรือไม่

     ซึ่งในส่วนของข้อมูลด้านคู่แข่งขันนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรจะมี เนื่องจากในการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆของธุรกิจในแผนการตลาด มีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ ซึ่งถ้ามีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะใช้วิเคราะห์หรือบอกเกี่ยวกับคู่แข่งขันได้ ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนก็ควรจะไปทำการหาข้อมูลเพิ่มเติม และข้อมูลด้านการตลาดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ข้อมูลสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม แนวโน้มต่างๆของธุรกิจ ข้อมูลบทวิจัยหรือผลงานวิจัยต่างๆ กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของธุรกิจ ถ้าใช้แหล่งอ้างอิงจากภายนอก ควรบันทึกรายละเอียดถึงที่มาของแหล่งข้อมูลดังกล่าวไว้ด้วย

เพราะแหล่งข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแผนธุรกิจ โดยแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ จะถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือในการอ้างอิงมากที่สุด และผลลัพธ์หรือข้อสรุปจากการวิเคราะห์ต่างๆนี้ ไม่สมควรใช้ความคิดส่วนตัวหรือเป็นการคาดการณ์ของผู้ประกอบการเอง เช่น การระบุว่าตลาดจะขยายตัวปีละ 10% เพราะจากประมาณการดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจมีผลกำไรที่ดีตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่มีเอกสารหรือหลักฐานใดๆรองรับเกี่ยวกับประมาณการดังกล่าว เพราะจะส่งผลให้แผนธุรกิจขาดความน่าเชื่อถือ

เมื่อมีข้อซักถามเกิดขึ้นว่าตัวเลขหรือประมาณการต่างๆ ที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจนั้นมีที่มาอย่างไรจากเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือผู้อ่านแผนส่วนของการวิเคราะห์ธุรกิจนั้น จะเป็นการพิจารณาว่าผู้จัดทำหรือผู้เขียนแผน มีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำไปใช้เขียนในแผนการบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในส่วนข้อมูลด้านเอกสารมักมิใช้ประเด็นปัญหา เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องมีอยู่ แต่ที่มักจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในส่วนของการวิเคราะห์ธุรกิจ จะเป็นในเรื่องของข้อมูลสถิติต่างๆ เช่น ยอดขาย รายได้ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ที่แม้ว่าธุรกิจจะมีอยู่มักไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยมีเฉพาะในส่วนของเอกสารบันทึกเท่านั้น ทำให้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนดังกล่าวมักจะต้องใช้เวลานาน ในการแปลผลจากข้อมูลดิบหรือตัวเลขต่างๆที่มีอยู่ในเอกสาร ให้เป็นผลสรุปของผลการดำเนินการของธุรกิจได้ เช่น การเปลี่ยนแปลง แนวโน้ม สัดส่วนหรือเปอร์เซนต์ของ ยอดขาย รายได้ จำนวนลูกค้า ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น เพราะจะใช้ประกอบในเรื่องของการวางแผนการดำเนินการ และการกำหนดกลยุทธ์ในแผนการตลาด แผนการผลิตหรือการให้บริการ และแผนการเงิน

     เนื่องจากการดำเนินการของธุรกิจโดยแท้จริงแล้ว มักจะมีรูปแบบคล้ายคลึงหรือมีแนวทางจากการดำเนินการที่ผ่านมา หรือในรูปแบบเดิมของธุรกิจ เพียงแต่อาจจะมีการปรับปรุงในการดำเนินการบางส่วนบ้างเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ หรือเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินการของธุรกิจใหม่ โดยไม่อยู่ในพื้นฐานเดิมเลยย่อมเป็นไปได้โดยยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยในข้อเท็จจริง ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว รูปแบบของธุรกิจเดิมจะมีความสัมพันธ์ กับการดำเนินการต่างๆที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจด้วย

นอกจากเรื่องของการดำเนินการ แล้ว ในส่วนที่ต้องนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ จะเป็นเรื่องของสภาพธุรกิจว่าอยู่ในสภาพใด สามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันอื่นได้หรือไม่ มีผลดำเนินการเป็นอย่างใดเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และพิจารณาเกี่ยวกับแผนผังองค์กรว่า มีสายงานบังคับบัญชาที่เหมาะสมหรือไม่ กล่าวคือมีบุคลากรครบถ้วนที่จะดูแลหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ ด้านการผลิตหรือการให้บริการ ดานการตลาด และด้านการเงิน โดยบุคลากรเหล่านี้มีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่ ในการบริหารจัดการ เพราะความรู้ความสามารถของบุคลากรนี้จะมีความสัมพันธ์กับอัตราเงินเดือน ค่าแรง ค่าจ้าง ซึ่งอยู่ในอัตราที่เหมาะสม

นอกจากนี้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในประมาณการต่างๆ เช่น ด้านการผลิต หรือด้านการตลาด บุคลากรหรือพนักงานที่มีอยู่ มีความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งในแง่ของจำนวนและประสิทธิภาพ การหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ว่าจะต้องใช้การลงทุนเริ่มต้นในมูลค่าเท่าใด หรือถ้าเป็นธุรกิจที่ดำเนินการมาแล้ว ก็ควรจะหามูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ของธุรกิจที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์หมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น เงินสด ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อมูลดังกล่าวระบุไว้ในงบการเงิน แต่มักพบว่ามูลค่าสินทรัพย์ในงบการเงินจะต่างกับมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริง เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆในการจัดทำบัญชี หรือการจัดทำงบการเงิน เช่น การตัดค่าเสื่อมราคา หรือวิธีการคำนวณมูลค่าสินค้า เป็นต้น

ดังนั้นการหามูลค่าสินทรัพย์จึงเป็นการหามูลค่าตลาด (Market Value) หรือมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) เพื่อให้รู้ว่าสินทรัพย์ที่แท้จริงในปัจจุบันของธุรกิจมีมูลค่าเท่าใด นอกจากนี้ในส่วนของวงเงินสินเชื่อต่างๆ กับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีอยู่ ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนควรศึกษา หรือทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับการผ่อนชำระคืน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินต้น ดอกเบี้ย รวมถึงเงื่อนไขต่างๆตามสัญญาให้ถูกต้อง รวมถึงเงื่อนไขทางการค้าต่างๆที่ธุรกิจมีอยู่ เช่น ลูกหนี้การค้า เจ้าหนี้การค้า หนี้สูญ เป็นต้น เพราะมีความสัมพันธ์กับกระแสเงินสดรับ-จ่ายของกิจการ เพื่อจะใช้วางแผนในส่วนของการจัดทำแผนการเงินต่อไปอีกด้วย

ซึ่งขั้นตอนในการวิเคราะห์ตลาด และวิเคราะห์ธุรกิจนี้ จะเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนธุรกิจได้ทราบว่า ตนเองมีข้อมูลหรือเอกสารประกอบต่างๆเพียงพอ ที่จะนำไปกำหนด Business Model หรือกำหนดแนวทางในการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆของธุรกิจ โดยถ้าผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผน สามารถบอกได้ว่าข้อมูลที่มีอยู่มีความเพียงพอ หรือมีรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็สามารถไปสู่ขั้นตอนที่สี่ในการกำหนด Business Model ของธุรกิจได้เลย แต่ถ้ามีข้อมูลไม่เพียงพอหรือยังไม่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นในส่วนของข้อมูลภายนอกเช่น เรื่องของคู่แข่งขัน หรือรายละเอียดอื่นๆ ก็สมควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์

     Business Model ถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินการของธุรกิจ ว่าธุรกิจจะดำเนินการในรูปแบบใด มิ่งใดที่เป็นจุดเด่น หรือเป็นความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ สิ่งใดถือเป็นปัจจัยของความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนถึงเรื่องของการพัฒนา Business Model to Business Plan ไว้ในปี 2549 ซึ่งถ้าผู้อ่านมีความสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Website ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม www.sme.go.th SMEs@click ในหัวข้อศูนย์ความรู้ SMEs ด้านการจัดการ ก็จะช่วยให้เข้าใจในภาพรวมของการพัฒนา Business Model ไปสู่แผนธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

     รูปแบบขององค์ประกอบของ Business Model จะถูกกำหนดใช้แตกต่างกันออกไป เพราะในแต่ละธุรกิจจะมีลักษณะองค์ประกอบ ปัจจัย ข้อจำกัด ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับตัวผู้ประกอบการและนโยบายในการบริหารจัดการ ดังนั้นจึงมิได้หมายความว่า ทุกธุรกิจจะต้องมีองค์ประกอบของ Business Model ที่เหมือนกัน หรือต้องมีองค์ประกอบทั้งหมดของ Business Model ตามที่ระบุไว้ข้างต้น แต่ควรกำหนดใช้เฉพาะองค์ประกอบบางข้อ ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเท่านั้น เช่น ธุรกิจที่เลือกใช้ Business Model ด้าน Value proposition อาจมุ่งเน้นในเรื่องของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ การพัฒนาสินค้า ให้ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้มากที่สุด

ถ้าเลือกด้าน Market segments อาจมุ่งเน้นในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดทั้งหมด ในการนำเสนอสินค้าหรือบริการ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ ถ้าเลือกด้าน Distribution channels อาจมุ่งเน้นในการขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกในการซื้อสินค้า หรือใช้บริการ ถ้าเลือกด้าน Cost structure อาจมุ่งเน้นในการบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตสินค้า หรือบริการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อการแข่งขันในด้านของราคา หรือถ้าเลือกด้าน Revenue model อาจมุ่งเน้นในด้านของแนวทางการตลาดใหม่ หรือการหารายได้จากตลาดใหม่ เป็นต้น

โดยองค์ประกอบเหล่านี้ในบางธุรกิจอาจใช้ในหลายๆองค์ประกอบผสมผสานกัน แต่พึงระลึกว่าองค์ประกอบของ Business Model ที่ธุรกิจเลือกนั้น ถือเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะส่งผลไปยังการวางแผนในการดำเนินการของธุรกิจ หรือสิ่งที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจ เพราะถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จและความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นถ้าธุรกิจเลือกองค์ประกอบใดของ Business Model รายละเอียดต่างๆของแผนธุรกิจก็จะสอดรับกับ Business Model ที่กำหนดขึ้น ในที่นี้จะเป็นตัวอย่างของแนวความคิดหลังจากการกำหนด Business Model

     “จากการที่ธุรกิจได้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า เป็นหัวใจสำคัญในการขางขัน โดยธุรกิจได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบกับธุรกิจมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลในการประกวดด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลกมาแล้ว ธุรกิจจึงได้ตั้งเป้าหมายในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 3 แบบ ตามประเภทของลูกค้าทุกๆ 6 เดือน และเนื่องจากยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในตลาด ดังนั้นผลิตภัณฑ์จึงสามารถตั้งราคาผลิตภัณฑ์ได้ในระดับสูงกว่าสินค้ารายอื่น โดยคาดว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าโดยเฉลี่ย 20% จากปี 2549 เมื่อสิ้นปี 2550 และรายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 25% จากยอดรายได้ในปี 2550” 

ซึ่งรายละเอียดหรือการประมาณการดังกล่าวนี้มาจากการที่ธุรกิจใช้ Business Model โดยมุ่งเน้นด้าน Value proposition Market Segments และ Core capabilities ทำให้ในแผนธุรกิจฉบับนี้จะมีรายละเอียดต่างๆ ด้านกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลลูกค้า การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค รายละเอียดเกี่ยวกับทีมงานหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีรายละเอียดหรือให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนนี้เป็นพิเศษ นอกเหนือจากรายละเอียดในหัวข้ออื่นๆของแผนธุรกิจ ดังนั้นการกำหนด Business Model จึงถือเป็นจุดกำหนดแนวทางว่า ในขั้นตอนต่อไปในการเริ่มต้นดารเขียนแผนธุรกิจ จะแสดงรายละเอียดอะไร จะใช้ข้อมูลใดในการนำเสนอ และผลจากการวิเคราะห์ตลาดและวิเคราะห์ธุรกิจนั้น จะนำมาสรุปผล หรือใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนตาม Business Model ที่ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนอย่างไรอีกด้วย

     เริ่มต้นเขียนแผน ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายภายหลังจากการกำหนด Business Model เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ธุรกิจจะมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด และจะใช้กลยุทธ์หรือวิธีการใด ในการสร้างจุดเด่น และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ จากองค์ประกอบของ Business Model ที่ธุรกิจกำหนดขึ้น โดยการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจในขั้นตอนที่ 5 นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่เคยผ่านการศึกษาหรือการอบรม อาจจะไม่มีความยุ่งยากนัก เนื่องจากมีความคุ้นเคยหรือได้เคยจัดทำมาก่อนบ้างแล้ว แต่สำหรับผู้ประกอบการใหม่หรือผู้ที่ยังไม่เคยผ่านการศึกษาอบรมมาเลย อาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดีจึงจะเหมาะสม โดยถ้าเป็นกรณีดังกล่าวนี้ผู้ประกอบการควรศึกษาจากโครงร่าง หรือตัวอย่างรูปแบบของแผนธุรกิจ เช่น จากตำราวิชาการ หรือหนังสือเกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจ

ซึ่งในปัจจุบันก็มีการวางจำหน่ายตามศูนย์หนังสือ หรือร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งอาจมี CD ซึ่งบันทึกข้อมูลไฟล์ตัวอย่างของแผนธุรกิจ และไฟล์สำหรับการคำนวณทางการเงินอีกด้วย หรือ Download ตัวอย่างของโครงร่างแผนธุรกิจจาก Website ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม www.sme.go.th หรือ Website กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม www.dip.go.th ซึ่งนอกจากจะมีไฟล์ข้อมูลของโครงร่างแผนธุรกิจ ยังมีตัวอย่างแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ และแบบการลงทุนในธูรกิจประเภทต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลของผู้ประกอบการ แต่โครงร่างหรือวิธีการเขียนแผนธุรกิจในแต่ละแหล่ง อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ซงอาจทำให้ผู้ประกอบการมีความสับสนว่า ควรจะเลือกใช้โครงร่างของแผนธุรกิจจากแหล่งใดจึงจะดีที่สุด หรือมีโอกาสในการกู้เงินถ้าใช้เพื่อการนำเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินได้มากที่สุด

     ในข้อเท็จจริงแล้วผู้ประกอบการพึงระลึกไว้ก่อนเป็นเบื้องต้นว่า ไม่มีโครงร่างคู่มือการเขียนแผนธุรกิจใดที่ดีที่สุด หรือสามารถใช้ได้กับทุกธุรกิจ เพราะธุรกิจแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกันหรือมีความแตกต่างกันในการดำเนินการ วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนธุรกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงหน่วยงานที่ผู้ประกอบการนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดหรือความต้องการข้อมูลในแผนธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้แผนธุรกิจที่เขียนขึ้น อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันแม้ว่าจะเป็นการเขียนขึ้นโดยธุรกิจเดียวกัน เมื่อมีวัตถุประสงค์หรือการนำเสนอไปยังหน่วยงานที่แตกต่างกัน

ดังนั้นผู้ประกอบการสามารถเลือกโครงร่างของแผนธุรกิจจากแหล่งใดก็ได้ แต่ควรพิจาณาเลือกใช้ให้มีความเหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง หรือผู้เขียนมีความเข้าใจในโครงร่างของแผนธุรกิจที่เลือก และสามารถกรอกรายละเอียดต่างๆในโครงร่างของแผนธุรกิจนั้นได้อย่างครบถ้วนเท่าที่เป็นไปได้ 
ซึ่งส่วนใหญ่ของโครงร่างของแผนธุรกิจไม่ว่าจะมาจากแหล่งข้อมูลใดก็ตาม จะประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ประกอบด้วย

  1. บทสรุปผู้บริหาร

  2. ข้อมูลของธุรกิจ

  3. ประวัติของธุรกิจ หรือแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ

  4. ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจ

  5. สภาวะตลาดหรือสภาวะอุตสาหกรรม

  6. การดำเนินการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่น

  7. ลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจ

  8. แผนการบริหารจัดการ

  9. แผนการตลาด

  10. แผนการผลิตหรือการบริการ

  11. แผนการเงิน

  12. ภาคผนวกหรือเอกสารแนบ


ซึ่งถ้าผู้ประกอบการทำการเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างเหมาะสมตามขั้นตอนที่ 2 ก็จะสามารถกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของธุรกิจ ประวัติของธุรกิจ หรือแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจได้อย่างสะดวก เพราะเป็นสิ่งที่มาจากข้อมูลภายใน (Internal Data) ของธุรกิจเอง รวมถึงสภาวะตลาดหรืออุตสาหกรรม และการดำเนินการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่นได้เบื้องต้นจากข้อมูลภายนอก (External Data) ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้แล้ว รวมถึงข้อมูลหรือเอกสารสำคัญต่างๆ เพื่อไว้ใช้ในส่วนของภาคผนวกหรือเอกสารแนบ และถ้ามีการวิเคราะห์ตลาดหรือวิเคราะห์ธุรกิจในขั้นตอนที่ 3 ก็จะสามารถกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับสภาวะตลาดหรือสภาวะอุตสาหกรรม การดำเนินการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่น ได้โดยละเอียดและมีเหตุผล รวมถึงสามารถกำหนดแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการ การวางแผนการตลาด การวางแผนการผลิตหรือการบริการได้เบื้องต้น

เพราะเป็นการวิเคราะห์จากปัจจัยภายในและภายนอกของธุรกิจที่เป็นอยู่ รวมถึงพอที่จะระบุเกี่ยวกับประมาณการในการลงทุน รายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นอยู่หรือจะมีการกำหนดขึ้นในอนาคตซึ่งต้องระบุไว้ในแผนการเงิน และถ้าสามารถกำหนด Business Model ของธุรกิจตามขั้นตอนที่ 4 ก็จะสามารถระบุเกี่ยวกับลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจที่เหมาะสมและเป็นไปได้ แผนการบริหารจัดการซึ่งมีความสัมพันธ์กับรูปแบบของ Business Model ที่ธุรกิจเลือก การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด ในแผนการตลาด ซึ่งตอบสนองกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ และลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจ ตาม Business Model ที่ระบุไว้ การวางเป้าหมายหรือการดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เช่น จำนวนการผลิต ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตหรือบริการ ที่สอดรับกับแผนการบริหารจัดการ หรือแผนการผลิตหรือแผนบริการที่กำหนดไว้

โดยส่วนที่ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนต้องมีการจัดทำเพิ่มเติมโดยละเอียด ซึ่งอาจต้องใช้ความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับการคำนวณ สูตรหรือตัวเลขต่างๆ ได้แก่ประมาณการทางการเงินล่วงหน้าในแผนการเงิน ซึ่งเป็นการประมาณการเกี่ยวกับ รายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจ ซึ่งมาจากรายละเอียดของกิจกรรมดำเนินการต่างๆ ที่มาจากแผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิตหรือการบริการนั่นเอง เพื่อแสดงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของธุรกิจ ในรูปของ ผลกำไร (Profit) มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net present value – NPV) มูลค่าอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal rate of return – IRR) ระยะเวลาคืนทุน (Payback period) หรือการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial analysis) เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันที่มีไฟล์คำนวณทางการเงินที่จัดทำขึ้นสำหรับแผนธุรกิจให้ Download หรือแถมพร้อมกับหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้มีความสะดวกสำหรับการจัดทำประมาณการทางการเงินในแผนธุรกิจ หรือในปัจจุบันที่มักจะต้องมีการจัดทำแผนประเมินความเสี่ยง (Risk assessment plan) ถ้าผู้ประกอบการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถกรอกรายละเอียดในส่วนดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะเป็นความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการดำเนินการต่างๆในแผนธุรกิจ โดยในส่วนของบทสรุปผู้บริหารก็เป็นเพียงการสรุปประเด็นสำคัญต่างๆจากแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นมาทั้งหมดนั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดของขั้นตอนในการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 เลือกธุรกิจ ขั้นตอนที่ 2 รวบรวมข้อมูล ขั้นตอนที่ 3 วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ธุรกิจ ขั้นตอนที่ 4 กำหนด Business Model และขั้นตอนที่ 5 เริ่มต้นเขียน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับแนวทางในการเริ่มต้น สำหรับผู้ประกอบการ ในการจัดทำหรือการเขียนแผนธุรกิจได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ


โดย  :  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 

หลักคิดของ การวางแผนธุรกิจ ที่ดี สำหรับเกณฑ์ 7Cs

เมื่อจะกล่าวถึงแนวคิดของ การวางแผนธุรกิจ ที่ดี (Concept of good business Plan)

ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการที่จะบอกได้ว่าแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นมานั้นจัดเป็นแผนธุรกิจที่ดีหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจ ที่เขียนขึ้นสำหรับการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน สำหรับการประกวดแข่งขัน หรือสำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาก็ตาม โดยถ้าเป็นแผนธุรกิจที่ดีก็ควรจะมีหลักแนวคิดเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้าผู้เขียนแผนธุรกิจเข้าใจแนวคิดดังกล่าวอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเขียน หรือจัดทำแผนธุรกิจที่ถือว่าเป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนมีแนวคิด เกี่ยวกับการที่จะระบุว่า แผนธุรกิจนี้อยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ จากเกณฑ์พิจารณา 5 ประการ ซึ่งคล้ายคลึงกับเกณฑ์ 5Cs ในการพิจารณาสินเชื่อ ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน อันประกอบด้วย Character (คุณลักษณะ), Credit (ความน่าเชื่อถือ), Capacity (ความสามารถในการดำเนินการ หรือความสามารถในการผ่อนชำระ), Collateral (หลักประกัน) และ Condition (เงื่อนไข) แต่ในปัจจุบันอาจต้องเพิ่ม C ที่หกเข้าไปประกอบก็คือ Capital (ทุน) คือ ผู้ประกอบการในปัจจุบันควรจะต้องมีเงินทุนของตนเอง ซึ่งทุนในความหมายนี้ควรจะ หมายถึงทุนที่เป็นเงินสด คือ Capital = Cash เพราะการให้วงเงินสินเชื่อในปัจจุบันจาก ธนาคารหรือ สถาบันการเงินนั้น จะพิจารณาในส่วนเงินทุนของผู้ประกอบการ ในการให้วงเงินสินเชื่อ ตามสัดส่วนทุนของผู้ประกอบการที่มีอยู่ โดยจุดหนึ่งในการ พิจารณาคือ ผู้ประกอบการมีเงินสดในมือเพียงพอ หรือไม่ เพราะสัดส่วนสินเชื่อ ที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะอนุมัติให้ อาจจะอยู่ระหว่าง 60%-80% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งส่วนที่เหลือ 20%-40% นั้น ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ออกทุนด้วยตนเอง โดยทุนในส่วนที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ ก็จะถูกใช้เป็นหลักประกัน (Collateral) ไปแล้วนั่นเอง สำหรับเกณฑ์ 7Cs ที่ผู้เขียนจะใช้พิจารณาว่า แผนธุรกิจที่ดีควรจะมี หรือเป็นแนวคิดเบื้องต้น สำหรับแผนธุรกิจที่ดี จะประกอบด้วย

C – Communicate
C – Commercial
C – Competitive
C – Correct
C – Clear
C – Complete
C – Convince


ซึ่งถ้าแผนธุรกิจใดก็ตามที่มี 7Cs นี้ครบถ้วน ก็จะจัดได้ว่าเป็นแผนธุรกิจที่ดี และสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

Communicate


ความสามารถในการสื่อสารหรือการสร้างความเข้าใจ (Communication) สามารถถือได้ว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของแผนธุรกิจ จากที่ได้เคย กล่าว มาแล้วเกี่ยวกับหน้าที่ของแผนธุรกิจ ที่ต้องสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับ กระบวนการในการวางแผน ดำเนินงานของธุรกิจ และผลที่เกิดขึ้น จาก การวางแผนนั้น หรือการแปลงความคิดในสมองของผู้ประกอบการ ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการแปลงจากนามธรรมมาสู่รูปธรรม ซึ่งถ้าผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนไม่สามารถถ่ายทอด หรือให้รายละเอียดของ ความคิดของตนออกมาได้ ก็เป็นการยากที่จะทำให้ผู้อื่น เชื่อได้ว่า ธุรกิจนี้มีการวางแผนที่ดี เพราะแม้แต่เจ้าของความคิดยังไม่สามารถระบุ หรือไม่เข้าใจแม้แต่สิ่งที่ตนเองวางแผนไว้ได้ แล้วจะให้ผู้อื่น เข้าใจได้อย่างไร แต่ถ้าผู้ประกอบการสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ก็แสดงว่าอย่างน้อย ก็มีความเข้าใจและ อาจสามารถสื่อสารได้เป็นเบื้องต้น ดังนั้นแผนธุรกิจที่ดีเมื่ออ่านแล้วผู้อ่านจะเข้าใจในตัวธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่เข้าใจทั้งหมด อย่างถ่องแท้ อันอาจจะเนื่องมาจากจำนวนหน้าหรือรายละเอียดของแผนธุรกิจที่จำกัด แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็พอจะเข้าใจได้ว่า ธุรกิจนี้คือ ธุรกิจอะไร สภาพตลาดและอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร และส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร ธุรกิจมีการวางแผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิต และแผนการเงินอย่างไร รวมถึงมีความน่าสนใจหรือให้การสนับสนุนหรือไม่ โดยไม่ว่าผู้อ่าน จะตัดสินใจว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ดีควรได้รับการสนับสนุน หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ดีไม่สมควรที่จะเสี่ยงที่จะสนับสนุนหรือควรลงทุนก็ตาม อย่างน้อยผู้อ่านต้อง เข้าใจ ในรายละเอียดของแผนธุรกิจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจุดบกพร่องสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่พบอยู่เสมอ คืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ในข้อมูลสำคัญต่างๆ ตามที่ผู้อ่านคาดหวังหรือต้องการทราบเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งถ้าแผนธุรกิจฉบับนั้นไม่สามารถ สามารถสื่อสาร ให้เข้าใจได้ ผู้อ่านก็มักจะตัดสินใจก่อนเลยเป็นเบื้องต้นว่าแผนธุรกิจนั้นเป็นแผนธุรกิจที่ไม่ดี หรือธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ไม่ดี และจะไม่ให้ความสนใจ ในที่สุด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วธุรกิจนั้นอาจเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคต หรือผู้ประกอบการ มีความสามารถ ในการบริหารจัดการ ให้ธุรกิจ ประสบความสำเร็จได้ถ้าได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจก็ตาม นอกจากนี้ในเรื่องของ การสื่อสารที่ผ่านตัว เอกสารแผนธุรกิจแล้ว ยังเป็นเรื่องของ การสื่อสารผ่านตัว ผู้ประกอบการเองอีกด้วย เนื่องจากไม่เคยมีการอนุมัติหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ โดยการพิจารณาเฉพาะ ตัวเอกสารแต่อย่างเดียว การสื่อสารผ่านตัวผู้ประกอบการหรือการสัมภาษณ์ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรืออาจจะถือว่า เป็นส่วนสำคัญมากกว่าเสียอีก เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าแผนธุรกิจที่นำเสนอเป็นแผนธุรกิจที่ดี แต่เมื่อผู้อ่านซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ หรือคณะกรรมการ สอบถามข้อมูลหรือสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเพื่อต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กลับพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถ ถ่ายทอดหรือสื่อสารให้เข้าใจได้ หรือเป็นในลักษณะ "พูดไม่รู้เรื่อง" อันอาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการไม่ได้เป็น คนเขียนแผนธุรกิจ ด้วยตนเอง และไม่ได้ทำความเข้าใจในแผนธุรกิจอย่างละเอียด ทำให้ได้รับคำปฏิเสธในที่สุด ดังนั้นพึงระลึกว่าแผนธุรกิจ ในส่วนที่เป็นเอกสาร เป็นขั้นตอน เบื้องต้นในการสื่อสารไปยังผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเบื้องต้นและมีความสนใจในธุรกิจ และขอให้ผู้ประกอบการ นำเสนอด้วย คำพูด และอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อการพิจารณาในการให้การสนับสนุนในภายหลัง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอ โดยละเอียด ในโอกาสต่อไป ในหัวข้อเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจ เนื่องจากถือเป็น จุดบกพร่อง สำคัญที่พบอยู่เสมอในเรื่องของแผนธุรกิจ คือผู้เขียนมักมุ่ง เน้นในเรื่องของการเขียนให้ครบ เขียนให้ถูกต้องตามหัวข้อ โดยลืมนึกถึง การนำเสนอแผนธุรกิจซึ่งถือ เป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่ง ที่ผู้อ่านใช้ พิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับ แผนธุรกิจ ในการเห็นชอบหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ



Commercial


ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ (Commercial) ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ เพราะแผนธุรกิจเป็นเรื่องของธุรกิจ ซึ่งต้องเป็น เรื่องจริง มิใช่สิ่งเพ้อฝัน และหลักพื้นฐานของธุรกิจคือการประกอบกิจการเพื่อสร้างผลกำไร ดังนั้นถ้าแผนธุรกิจนั้น ไม่สามารถแสดงให้เห็น หรือแสดงได้ไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้จริง หรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเป็นธุรกิจหรือเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ก็ถือได้ว่าแผนธุรกิจนี้ยังไม่ดีเพียงพอ เพราะความเป็นไปได้จริงของการดำเนินธุรกิจ หรือการมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ คือสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวัง เกี่ยวกับทุกๆธุรกิจ โดยสิ่งที่พบในเรื่องความเป็นได้ในเชิงพาณิชย์ที่ปรากฏในแผนธุรกิจ มักจะเป็นแผนธุรกิจจากผู้ประกอบการใหม่ หรือประเภทผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการใหม่ มีแนวความคิดใหม่ๆ หรือเป็นธุรกิจที่พัฒนาขึ้นจากทรัพย์สินทางปัญญา หรือจากงานวิจัยต่างๆ กล่าวคือ อาจเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือบริการที่ดี มีนวัตกรรม แต่มักจะพบว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่จะนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ อันเป็นผล จากในเรื่องของการลงทุนเริ่มต้น หรือต้นทุนการผลิตเมื่อจะนำมาผลิตในเชิงอุตสาหกรรม หรือต้องมีการให้ความรู้แก่ตลาด เนื่องจาก เป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีลูกค้ารู้จัก หรือจากการที่มีศักยภาพทางการตลาดต่ำ อันเนื่องจากลูกค้าเป็นลูกค้ากลุ่มเล็กหรือมีลูกค้าน้อยราย หรือเป็น สินค้าที่ขายได้ในวงแคบ ซึ่งอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการขายและบริหารในระดับสูง จนผู้ประกอบการรายเล็ก หรือผู้ประกอบการ ที่ขาดแคลนเงินทุน ไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบเพื่อการพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงได้ รวมถึงความสามารถใน การบริหารจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะมาจากทีมผู้บริหารเอง หรือจากการรับรู้ของลูกค้าในตลาดก็ตาม รวมทั้งแม้ว่าธุรกิจจะมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ดำเนินการจะต้องมีผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ หรืออยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตาม มาตรฐานของผลตอบแทน ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เดียวกัน จึงจะถือว่าถูกต้องในประเด็นดังกล่าว



Competitive


ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความแตกต่างหรือความโดดเด่นในแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอ โดยปกติแล้วทุกๆธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในตลาด อย่างน้อยก็ต้องมีธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน หรือสามารถ ทดแทนกันได้ อยู่ในตลาดหรืออุตสาหกรรมอยู่ก่อนหน้าแล้ว เพราะเป็นการยากหรือแทบจะเป็นไม่ได้เลยว่า จะมีธุรกิจซึ่งไม่มีคู่แข่งขัน อยู่เลยในตลาด ยกเว้นแต่ธุรกิจประเภทผูกขาด (Monopoly) หรือธุรกิจของตนนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวจริงๆ (Original Business) ดังนั้นแผนธุรกิจต้องแสดงให้เห็นได้ว่าธุรกิจของตนสามารถแข่งขันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร หรือมีประเด็นใดที่เป็น ความสามารถ ในการแข่งขันของตน (Competitive Edge) โดยประเด็นดังกล่าวนี้มิได้หมายความว่า ธุรกิจจะต้องมีลักษณะในกระบวนการ ดำเนินการ ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง จากกระบวนการดำเนินการของธุรกิจที่มีอยู่โดยทั่วไป เพราะเป็นสิ่งที่พบได้มากใน แผนธุรกิจบางแผน ที่ผู้เขียนอาจมี แนวคิดว่าต้องเขียนให้มีความแตกต่างจากธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือต้องแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากธุรกิจที่เป็นอยู่ จึงจะสามารถแข่งขันได้ หรือเป็นธุรกิจที่ดี เพราะในข้อเท็จจริงแล้วแต่ละธุรกิจก็จะมีองค์ประกอบ หรือกระบวนการอันเป็นข้อจำกัดที่เหมือนๆกันอยู่ ซึ่งไม่ว่าธุรกิจใด ก็ตาม ถ้าดำเนินการในประเภทธุรกิจเดียวกัน ก็จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกันแทบทั้งสิ้น รวมถึงอาจลืมคิดไปว่า สิ่งใดก็ตามที่เขียน ขึ้นนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนหรือเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น โดยเฉพาะในด้านการตลาดแบบใหม่ๆ ที่มักจะลงทุนสูง ในส่วนของค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ แต่สิ่งที่แผนธุรกิจต้องแสดงให้เห็นในส่วนของการแข่งขันนี้ คือ เรื่องของแนว ความคิดใน การดำเนินธุรกิจแบบใหม่ (New business idea) ที่แตกต่างและดีกว่าธุรกิจเดิมโดยทั่วไป แต่ถ้าไม่ใช่ธุรกิจใหม่คือ เป็นการดำเนินธุรกิจ ประเภทเดียวกัน หรือเป็นประเภท Me Too Business แผนธุรกิจก็ควรต้องบอกได้ถึงจุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบที่จะ ทำให้ธุรกิจสามารถ แข่งขัน กับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ในตลาดได้ เพราะถ้าธุรกิจไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ก็หมายความว่า ธุรกิจมีได้มีจุดเด่นเหนือธุรกิจอื่นที่มีอยู่ในตลาด อันจะส่งผลให้ผู้อ่านพิจารณาว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงในแง่ของการดำเนินการ หรือผู้เขียนแผนยังไม่มีการวางแผนในการดำเนินธุรกิจที่ดีเพียงพอ



Correct


ความถูกต้อง (Correct) สำหรับความถูกต้องที่เกี่ยวพันแผนธุรกิจในที่นี้ มีอยู่หลายประเด็นในการพิจารณา เช่น มีโครงสร้างของแผนธุรกิจ ที่ถูกต้อง คือมีรายละเอียดของหัวข้อต่างๆตามมาตรฐานของแผนธุรกิจพึงมี เช่น บทสรุปผู้บริหาร แนวคิดของธุรกิจหรือ ประวัติความเป็นมา ของธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรม ข้อมูลพื้นฐานรายละเอียดของธุรกิจ รายละเอียดของสินค้าและบริการ แผนการบริหารจัดการ และแผนงานด้านบุคลากร แผนการตลาด แผนการผลิตหรือแผนบริการ แผนการเงิน ภาคผนวกและเอกสารแนบ ซึ่งถือเป็นโครงสร้าง พื้นฐานทั่วไปของแผนธุรกิจ หรืออาจแตกต่างออกไปถ้าเป็นแผนธุรกิจเพื่อการประกวดหรือการแข่งขัน หรือมีรายละเอียดบางส่วน ที่ต้อง เพิ่มเติม นอกเหนือ เช่น ต้องมีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน การประเมินและการจัดการความเสี่ยง แผนฉุกเฉินของธุรกิจ แผนดำเนินการ ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแผนธุรกิจดังกล่าวเขียนขึ้นโดยใคร หรือใครเป็นผู้อ่าน หรือมีวัตถุประสงค์ใน การใช้หรือนำเสนอ แผนธุรกิจนี้ด้วย เหตุผลใด รวมถึงข้อกำหนดจากหน่วยงานหรือผู้อ่านแผน ว่าต้องการข้อมูลหรือรายละเอียดใดที่ต้องการให้ระบุไว้ในแผนธุรกิจ นอกจาก ความถูกต้องในเรื่องโครงสร้างของแผนแล้ว ยังเป็นเรื่องของความถูกต้องเกี่ยวกับความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของธุรกิจ ว่าธุรกิจที่ตน ดำเนินการนั้น มีข้อจำกัด หรือจุดเด่นจุดด้อยหรือมักเกิดปัญหาขึ้นในจุดใด เพราะถ้ารายละเอียดที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจผิดเพี้ยน หรือไม่ถูกต้อง ตามข้อเท็จจริงของสภาพธุรกิจแล้ว ก็หมายความว่าแผนการหรือวิธีการดำเนินการของธุรกิจ ก็จะไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามลักษณะธุรกิจด้วยเช่นกัน เช่น สภาวะตลาด อัตราผลตอบแทนของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม พฤติกรรมการตัดสินใจในการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น และการลง รายละเอียด เกี่ยวกับต้นทุนต่างๆของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขายหรือบริหาร ต้องเป็นต้นทุน ที่แท้จริงหรือ ต้นทุนที่ถูกต้อง หรือสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจ ประเภทเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลไปยัง ความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ ในเชิงพาณิชย์ตามที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว หรืออาจเป็นประเด็นในเรื่องของความถูกต้องตามข้อกำหนด กฏหมาย และระเบียบข้อบังคับ เพราะธุรกิจจะเกิดขึ้นได้จริงจะต้องเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะในกรณีที่ธุรกิจนี้ถ้าดูเนื้อหาตามรายละเอียดของแผนธุรกิจ ถือเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรได้ดี แต่ทว่าการที่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย ธุรกิจนี้ย่อมไม่สามารถ เกิดขึ้นหรือ ดำเนินการได้จริง หรือรวมถึงการมีลักษณะที่สามารถระบุได้ว่าขัดต่อศีลธรรม ประเพณี ก็จะมีลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ ความถูกต้อง ยังอาจรวมถึง สมมติฐานต่างๆที่ใช้ในการประมาณการ การคำนวณต่างๆโดยเฉพาะทางด้านการเงิน ที่ต้องถูกต้องในผลลัพธ์ จากการ คำนวณต่างๆ หรือการจัดทำเอกสาร เช่น ความถูกต้องในการพิมพ์อักษร และจัดทำตัวแผนธุรกิจที่ต้องถูกต้องตามมาตรฐาน โดยเฉพาะสาระสำคัญต่างๆ เช่น จำนวนเงิน เป็นต้น



Clear


ความชัดเจน (Clear) หรือความกระจ่างถือเป็นสิ่งที่แผนธุรกิจที่ดีพึงมี เพราะจากที่กล่าวมาก่อนหน้าว่า แผนธุรกิจเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เกี่ยวกับการวางแผนของธุรกิจและการแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจากการวางแผน ดังนั้นผู้อ่านแผน นอกจากจะต้องเข้าใจ ในตัวธุรกิจ แล้ว สิ่งต่างๆที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจควรจะมีความชัดเจน แจ่มแจ้งเพียงพอต่อผู้อ่าน ในการตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจ หรือสามารถสันนิษฐานได้ว่ าธุรกิจที่จะดำเนินตามแผนนั้นเป็นไปได้จริง โดยให้มีข้อสงสัยน้อยที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจ นี้มีความเป็นไปได้ ตามที่ระบุไว้ในแผน หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบต่างๆและการตอบสนองของธุรกิจต่อสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม ลักษณะสินค้า และบริการของธุรกิจ แผนการดำเนินงานต่างๆของธุรกิจ ที่ต้องมีความสอดคล้อง กลมกลืน และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ว่าเป็นเพราะ เหตุใด ธุรกิจจึงเลือกที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการเช่นนั้นเช่นนี้ หรือการมีข้อมูล งานวิจัย ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นี้สามารถผลิตขึ้นมาได้จริง มิใช่เป็นเพียงความคิดหรือความเฟ้อฝัน สิ่งที่กล่าวอ้างว่ามีจำนวนลูกค้าที่สนใจ หรือมียอดขายในระดับที่น่าพอใจนั้น มีเอกสารหรือข้อมูล การตลาดใดที่สามารถยืนยัน เพื่อรองรับรายละเอียดที่ระบุดังกล่าวว่าเป็นความจริง เพราะแผนธุรกิจเป็นการกล่าวถึงเรื่องของธุรกิจ ซึ่งต้อง เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ดังนั้นผู้อ่านจึงคาดหวังในเรื่องของข้อพิสูจน์ (Proof) มากกว่าการสันนิษฐาน (Assume) แม้ว่าสำหรับธุรกิจใหม่ จะถือเป็นการยากที่จะหาข้อพิสูจน์มายืนยันได้ว่า ธุรกิจของตนสามารถดำเนินการและจะเกิดผลลัพธ์ตามที่ได้ระบุไว้ในแผนธุรกิจ เมื่อเทียบกับ ธุรกิจที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลามาก่อนหน้า แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีสิ่งที่ช่วยยืนยัน หรือข้อสนับสนุนเพียงพอที่จะให้ผู้อ่านมีความกระจ่าง หรือไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับธุรกิจว่าสามารถเกิดขึ้น หรือดำเนินการได้จริงตามแผนได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของที่มาเกี่ยวกับประมาณการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ เช่น จำนวนลูกค้า ประมาณการของยอดขาย ประมาณการในการเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น สิ่งที่คาดการณ์หรือคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีความเชื่อถือ เพียงพอหรือ สามารถแสดงให้เห็นถึง สาเหตุในการกำหนด เกี่ยวกับการคาดคะเน ตัวเลขต่างๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นที่น่าเชื่อถือ เพียงพอที่ผู้อ่านจะไม่เกิดข้อสงสัย หรือความไม่เชื่อมั่นว่า เป็นไปได้จริง กับตัวเลขหรือประมาณการต่างๆที่กำหนดขึ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดเบื้องต้นคือกรอบแนวคิดสำหรับการจัดทำแผนธุรกิจที่ดี ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นในวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ความสามารถในการสื่อสาร หรือการถ่ายทอด ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ความสามารถในการแข่งขัน ความถูกต้องใน ประเด็นต่างๆของ ธุรกิจ และความชัดเจนในรายละเอียดของธุรกิจ เป็นสิ่งที่แผนธุรกิจควรมีอยู่ให้ครบถ้วน ถ้าจะถือว่าแผนธุรกิจดังกล่าวเป็นแผนธุรกิจที่ดี ไม่ว่าจะมีจำนวนหน้าของแผนธุรกิจเพียง 10 หน้า หรือจนกระทั่งถึง 50 หรือนับร้อยหน้าก็ตาม ถ้าปราศจากเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะไม่สามารถ นับว่า เป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ ดังนั้นถ้าแผนธุรกิจหรือผู้เขียนแผนธุรกิจจัดทำหรือเขียนแผนธุรกิจขึ้น โดยมีองค์ประกอบหรือมีแนวคิดทั้ง 5 ส่วน และ C แต่ละตัว ที่กล่าวถึงนี้ต่างมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยถ้าแผนธุรกิจดังกล่าวมี 5Cs ครบถ้วนแล้ว อย่างน้อยก็จะสามารถถือได้ อยู่ในเกณฑ์ที่จะเรียกได้ว่า เป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการที่จะเป็นแผนธุรกิจที่ดีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้เขียนแผนธุรกิจ มีความเข้าใจ และมีความสามารถเพียงใดในการเขียนแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา ความชัดเจน ความครบถ้วน ในการระบุ รายละเอียด ต่างๆของธุรกิจ การจัดรูปแบบเอกสาร ซึ่งจะช่วยเพิ่มเติมความสมบูรณ์และความครบถ้วนของแผนธุรกิจให้ดีมากยิ่งขึ้น



Complete


ความสมบูรณ์ในตัวแผนธุรกิจ (Complete) ถือเป็นประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนธุรกิจอีกประการหนึ่ง โดยความสมบูรณ์ในที่นี้จะหมายถึง ความสมบูรณ์ของรายละเอียดต่างๆทั้งหมดในแผนธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการในการวางแผนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึง ข้อมูล ประกอบอื่นๆที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับการพิจารณาเกี่ยวกับธุรกิจ โดยสำหรับโครงสร้างของแผนธุรกิจมาตรฐานทั่วไป จะมีรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงเหตุผลในการเลือกดำเนินธุรกิจ ประวัติความเป็นมาของธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงประวัติความเป็นมา ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ อุปสรรค และความสำเร็จของกิจการ ผลการดำเนินการที่ผ่านมาในอดีต เช่น รายได้ ผลกำไร หรือขาดทุน การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ หรือทุนของกิจการ เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ซึ่งแสดงถึง รายละเอียด ของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เช่น แบบ ขนาด การใช้ประโยชน์ สี คอร์ส เป็นต้น ราคาขายของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ราคาค่าบริการ สถานที่จำหน่าย หรือสถานที่ให้บริการผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ รูปแบบการโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น สภาวะตลาด หรือ อุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงสภาพตลาด หรืออุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ สภาพการแข่งขัน ข้อมูลของคู่แข่ง การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และภายนอก ของธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า SWOT analysis อันเป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของกิจการ เป็นต้น ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของธุรกิจ เช่น ชื่อของกิจการ สภาพการเป็นนิติบุคคล สถานที่ตั้งของธุรกิจ ทุนจดทะเบียน หรือทุนของกิจการ เป็นต้น และแผนดำเนินงานของธุรกิจ อันประกอบด้วย แผนการบริหารจัดการซึ่งมักจะเป็นเรื่องของบุคลากร การกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย เป็นต้น แผนการตลาด ซึ่งจะเป็นเรื่องของการกำหนดเกี่ยวกับลูกค้าเป้าหมายของกิจการ การกำหนดกลยุทธ์ ทางการตลาดที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งจะประกอบด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด ได้แก่ กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ด้านราคา กลยุทธ์ด้านช่องทางจัดจำหน่าย กลยุทธ์ด้านส่งเสริมการตลาด แผนการผลิต หรือบริการ ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงรายละเอียด เกี่ยวกับ กระบวนการในการผลิต หรือให้บริการ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับสถานประกอบการในการผลิต หรือการให้บริการ ขั้นตอนการผลิต หรือให้บริการ การแสดงถึงกระบวนการในการผลิต หรือการให้บริการ เป้าหมายการผลิต หรือการให้บริการ เป็นต้น แผนการเงิน ซึ่งแสดงเกี่ยวกับรายละเอียดของที่มา หรือรายได้ของกิจการ ประมาณการต้นทุน หรือค่าใช้จ่าย งบการเงินของธุรกิจอันประกอบด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เป็นต้น แผนการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ หรือแผนฉุกเฉิน ซึ่งแสดงถึงแนวทางการระบุถึงปัญหา หรือความเสี่ยงของธุรกิจ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา แผนการปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งแสดงถึงวิธีการ หรือแนวทางการดำเนินงานที่จะทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้ระบบสารสนเทศ การวางระบบบัญชี หรือการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นต้น ภาคผนวก หรือเอกสารแนบซึ่งเป็นเอกสาร หรือข้อมูลประกอบต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุน ความน่าเชื่อถือในแผนธุรกิจ ซึ่งในส่วนของแผนการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ หรือแผนฉุกเฉิน และแผนการปรับปรุงเ พื่อเพิ่มขีดความ สามารถ นั้นเป็นแผนดำเนินการส่วนเสริมที่ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนว่าจะมีการจัดทำ หรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดในแผนธุรกิจ ก็ควรจะมี เรื่องของ ข้อมูล เกี่ยวกับธุรกิจ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ประวัติความเป็นมา สภาวะตลาด หรืออุตสาหกรรม แผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิต หรือบริการ และแผนการเงิน รวมถึงภาคผนวกให้ครบถ้วน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของแผนการเงิน ที่ผู้จัดทำแผนธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มักจะไม่สามารถจัดทำได้อย่างถูกต้อง หรือไม่สามารถจัดทำได้เลย หรือสมมติฐานต่างๆ ขาดความน่าเชื่อถือ หรือไม่สามารถเป็นไปได้จริง ทำให้แผนธุรกิจส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs มักขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากแผนการเงิน หรือผลลัพธ์ทางการเงินถือเป็นตัววัดผลประกอบการของธุรกิจ รวมถึงตัวเลขต่างๆในแผนการเงินนั้นมีที่มาจากกิจกรรม หรือวิธีการดำเนินการต่างๆของธุรกิจในแผนการตลาด แผนบริหารจัดการ แผนการผลิต หรือแผนบริการ ซึ่งสิ่งต่างๆที่กำหนดขึ้นนี้ จะเป็น ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายของกิจการ โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างรายได้ให้กับ กิจการเพื่อหวังในผลกำไร ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าแผนธุรกิจ ขาดในส่วนของแผนการเงินที่ถูกต้อง ย่อมทำให้แผนธุรกิจฉบับนั้น ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ในการพิจารณาเกี่ยวกับ รายละเอียดต่างๆของแผนธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด



Convince


การสร้างความน่าเชื่อถือ (Convince) อาจถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับการจัดทำแผนธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อ การจัดทำแผนธุรกิจ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการนำเสนอต่อบุคคลภายนอก เช่น ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากการตัดสินใจในการให้การสนับสนุนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า แผนธุรกิจนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด รายละเอียดต่างๆในแผนธุรกิจมีความเป็นเหตุเป็นผล มีความสอดคล้องใน แผนงาน ต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการวางแผนธุรกิจของผู้จัดทำ โดยสิ่งที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือนี้ก็จะมาจาก 6Cs ที่ได้กล่าวถึง มาแล้วก่อนหน้านั่นเอง คือ ผู้อ่าน หรือผู้พิจารณาแผนสามารถเข้าใจในรายละเอียดต่างๆระบุไว้ในแผนธุรกิจ ธุรกิจมีความเป็นไปได้ ในเชิงพาณิชย์ หรือสามารถดำเนินการได้จริง ธุรกิจสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ได้ รายละเอียดต่างๆในแผนธุรกิจมีความถูกต้อง มีความชัดเจน เพียงพอที่จะไม่เกิดข้อสงสัยในรายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้ และแผนธุรกิจมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ในรายละเอียด หรือหัวข้อ ต่างๆ ของแผนธุรกิจสำหรับผู้อ่าน หรือผู้พิจารณาแผน
สุดท้ายนี้หวังว่า เรื่องของ 7Cs ของแนวคิดเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ดีนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้จัดทำแผนธุรกิจ ในการประเมินถึงประสิทธิภาพ ของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นสำหรับการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน สำหรับการประกวดแข่งขัน หรือสำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาก็ตาม


ด้วยความปราถนาดีจาก
SMEssmart Team!

“ไอช์ฯ” ชาชักสูตรอิเหนา ต่อยอดรุกตลาดแฟรนไชส์

ด้วยรสชาติหวานหอมนุ่มลิ้น และท่วงท่าการชงอันสวยงามเร้าใจ ทำให้ “ชาชัก” เป็นเครื่องดื่มขวัญใจของใครหลายคน โดยแต่ละเจ้ามักมีสูตรเด็ดเคล็ดลับแตกต่างกันไป อย่างในรายของ “ไอช์โรตี ชาชัก” (Ish Roti ChaChak) นำเสนอสูตรต้นตำรับจากประเทศอินโดนีเซีย ปรับแต่งจนรสชาติถูกปากคนไทย ช่วยให้ได้รับความนิยมอย่างสูง และยังต่อยอดเปิดขายโอกาสอาชีพให้แก่ผู้สนใจในรูปแบบกึ่งแฟรนไชส์

สูไรดา มะยุ เจ้าของธุรกิจ “ไอช์ โรตีชาชัก” เล่าว่า พื้นเพเป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายโรตีแช่แข็ง แบรนด์ “ไอช์ โรตี” ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป 4 ดาว ประจำจังหวัด มักได้รับเชิญให้มาออกบูทในงานโอทอปที่กรุงเทพฯ และในห้างสรรพสินค้าตามหัวเมืองใหญ่เสมอๆ

เนื่องจากชาชักเป็นเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ เหมาะกินคู่กับโรตี ดังนั้น ทุกครั้งที่มาออกบูท ไม่พลาดจะนำเครื่องดื่มชาชักมาขายควบคู่กันไปด้วย โดยเป็นสูตรที่สามี (รุสมาน ซารี) ได้ไปร่ำเรียนมาจากประเทศอินโดนีเซียโดยตรง ผลปรากฏว่า ชาชักสูตรอินโดนีเซียได้รับความนิยมอย่างสูงจากลูกค้า ด้วยจุดเด่นกลิ่นหอม รสชาติหวานนุ่มกำลังดี ไม่ฝาดลิ้น จนยอดขายแซงโรตีเสียอีก

“สูตรของอินโดฯ แท้ๆ รสชาติจะเข้มข้นมาก เราจึงนำสูตรมาปรับเพื่อให้รสชาติเหมาะกับคนไทย โดยเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่ผงชาที่เป็นสูตรของตัวเอง ผสมกันระหว่างผงชานำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียกับผงชานำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลองผิดลองถูกจนได้สูตรรสอ่อนนุ่ม นอกจากนั้น ปรับวัตถุดิบบางส่วน เช่น ต้นตำรับจะใส่นมแพะก็เปลี่ยนมาใส่นมข้นหวานแทน ซึ่งจะคุ้นเคยกับคนไทยมากกว่า” สูไรดา อธิบายเสริม

เธอ เล่าต่อว่า นับจากเริ่มขายชาชัก เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ไม่เคยทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น อาศัยรสชาติกับคุณภาพเป็นตัวเรียกลูกค้า จนมีขาประจำที่ติดใจรสชาติคอยติดตามซื้อหาชาชักทุกครั้งที่ออกบูท และยังช่วยไปบอกต่อ ทำให้ยอดขายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไม่เท่านั้น มีผู้สนใจขอซื้อสูตรและวัตถุดิบหลายราย เพื่อมายึดอาชีพนี้บ้าง โดยระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้คัดเลือกเฉพาะรายที่มีความตั้งใจ และชื่นชอบในสินค้าอย่างแท้จริง จำนวน 10 ราย เพื่อมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ นับถึงปัจจุบัน ทั้ง 10 รายประสบความสำเร็จในอาชีพ ไม่มีรายใดที่ต้องปิดกิจการลงเลย

สูไรดา เผยต่อว่า ขณะนี้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ดูแลร้านสาขาทั้งหมด 12 แห่ง แบ่งเป็นของตัวเอง 2 แห่ง คือ ซ.รามคำแหง 97 กับ ซ.นวมินทร์ 26 ที่เหลือเป็นของเพื่อนร่วมธุรกิจ โดยแผนธุรกิจ ในปีนี้ (2554) ได้ต่อยอดธุรกิจ ปล่อยขายอาชีพในระบบกึ่งแฟรนไชส์อย่างจริงจัง โดยแบ่งรูปแบบลงทุน 4 แบบ ได้แก่ 1.แบบรถขนาดใหญ่ ลงทุน 119,000 บาท 2.แบบรถขนาดกลาง ลงทุน 79,000 บาท 3.แบบเคาน์เตอร์ ลงทุน 49,000 และ 4.เคาน์เตอร์เล็ก (ไม่มีชุดอุปกรณ์ขายโรตี) ลงทุน 29,000 บาท ทุกแบบได้รับอุปกรณ์ครบชุด และวัตถุดิบเบื้องต้นพร้อมขายได้ทันที

นอกจากนั้น ก่อนเริ่มเปิดร้าน จะให้ผู้ลงทุนมาฝึกอบรมการชงชา และการชักชาที่ร้านต้นแบบ โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน สามารถทำได้แล้ว ส่วนความชำนาญ ความสวยงาม รวมถึง เทคนิคลูกเล่นต่างๆ ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของผู้ลงทุนที่ต้องไปฝึกฝนเพิ่มเติมด้วยตัวเอง

ด้านเงื่อนไขร่วมธุรกิจนั้น กำหนดว่า ต้องรับวัตถุดิบหลักจากส่วนกลางเท่านั้น ได้แก่ ผงชาชัก ผงชาเขียว ผงโกโก้ และผงกาแฟ กับแผ่นโรตีแช่แข็ง ส่วนวัตถุดิบพื้นฐานอื่นๆ เช่น นมข้นหวาน น้ำหวานฯลฯ ให้ผู้ลงทุนซื้อหาเอง

ทั้งนี้ ต้นทุนชาชักเฉพาะค่าวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณแก้วละ 9 บาท ขายปลีกในราคาแก้วละ 25-30 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทุกอย่างแล้ว เช่น ค่าพนักงาน ค่าเช่า ฯลฯ ผู้ขายมีเหลือกำไรสุทธิต่อหน่วยประมาณ 50% จากราคาขายปลีก ส่วนโรตี ต้นทุนอยู่ที่ประมาณแผ่นละ 8-9 บาท ขายปลีกแผ่นละ 15-30 บาท ผู้ขายจะเหลือกำไรสุทธิประมาณ 50% เช่นกัน

เธอ เผยด้วยว่า อัตราการคืนทุนขึ้นอยู่กับทำเล แต่โดยเฉลี่ยจากประสบการณ์เปิดสาขาที่ผ่านมา ทุกแห่งคืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 3 เดือน ส่วนการคัดเลือกผู้ร่วมเป็นสมาชิก จะยึดหลักต้องการผู้ที่ชื่นชอบในตัวสินค้านี้จริงๆ รวมถึง พิจารณาจากทำเลและกลุ่มผู้บริโภคที่จะนำสินค้าไปลง ซึ่งควรจะเป็นย่านที่มีผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดระดับพรีเมียม เป็นต้น

ทั้งนี้ การสนับสนุนการตลาดให้สมาชิก จะมีการออกบูทเพื่อแนะนำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และให้คำปรึกษาธุรกิจต่อเนื่อง โดยในปีนี้ (2554) คาดจะปล่อยสาขาใหม่เพียงประมาณ 10 รายเท่านั้น เพื่อให้สามารถดูแลคุณภาพได้ดี และทั่วถึง

[one_half last="ตารางลงทุน “ไอช์โรตี ชาชัก”"]** แฟรนไชส์มีรูปแบบลงทุน 4 แบบ
1.แบบรถขนาดใหญ่ ลงทุน 119,000 บาท
2.แบบรถขนาดกลาง ลงทุน 79,000 บาท
3.แบบเคาน์เตอร์ ลงทุน 49,000
4.เคาน์เตอร์เล็ก (ไม่มีชุดอุปกรณ์ขายโรตี) ลงทุน 29,000 บาท
** ต้องรับวัตถุดิบ ผงชา และโรตีแช่แข็งจากส่วนกลางเท่านั้น
** กำหนดสุทธิประมาณ 50% จากราคาขายปลีก
** คาดการณ์คืนทุนใน 3 เดือน (แล้วแต่ทำเลและรูปแบบลงทุน)
[/one_half]

โทร.0-2704-4315 , 08-9174-3223

Credit : ASTVผู้จัดการ