8/03/2558

เลือกทำแฟรนไชส์ ต้องรู้จักธุรกิจแฟรนไชส์ Franchise



ธุรกิจแฟรนไชส์ และ การทำธุรกิจแฟรนไชส์ ให้ประสบความสำเร็จ นั้น เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน และเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น จึงได้แยกคำศัพท์ออกมา เพราะมีอยู่หลายคำ ที่น่าสนใจและจำเป็นต้องรู้ ถ้าหากคิดที่จะเข้ามาทำธุรกิจแฟรนไชส์ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมต่างๆที่ต้องจ่ายนั้น เขาเรียกว่าอะไรกันแน่ ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับคำศัพท์ต่างๆ ก่อน
แฟรนไชส์ซิ่ง ( Franchising ) 
การที่เจ้าของสิทธิ ( Franchisor )  ตกลงอนุญาตให้ผู้รับสิทธิ ( Franchisee ) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ การค้า การบริหาร และระบบธุรกิจ ซึ่งเจ้าของสิทธิเป็นผู้พัฒนาขึ้น ผู้รับสิทธิจะต้องดำเนินธุรกิจ ตามรูปแบบและระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ และจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ
แฟรนไชส์ ( Franchise )
คือ ระบบธุรกิจที่ประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
  1. จะต้องมีเจ้าของสิทธิ ผู้ถ่ายทอดวิทยาการ การทำธุรกิจทุกอย่างให้กับผู้รับสิทธิ อย่างใกล้ชิด
  2. ผู้รับสิทธิจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการใช้ชื่อการค้า เป็นค่าธรรมเนียมเริ่มแรก (Franchise Fee)
  3. ผู้รับสิทธิจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซ็นต์ ( Royalty Fee )
แฟรนไชส์ซอร์ ( Franchisor )
เจ้าของสิทธิ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวิธีการทำธุรกิจ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้ขายสิทธิการดำเนินกิจการ ขายชื่อการค้าของตนเอง ให้แก่ผู้อื่น เช่น เชสเตอร์กริลล์ เป็นผู้คิดค้นร้านอาหารประเภท ไก่ย่าง และสูตรอาหาร มีรูปแบบ การจัดร้าน การจัดการเฉพาะตัว จนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก แล้วขายระบบทั้งหมดให้แก่ผู้อื่น บริษัทของเชสเตอร์กริลล์ อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของสิทธิ และเป็นผู้ขายแฟรนไชส์ให้ผู้อื่น เรียกว่า แฟรนไชส์ซอล หรือกรณีที่ 7-อีเลฟเว่น บริษัท ซีพี ซื้อแฟรนไชส์  มาจากต่างประเทศ แล้วมาพัฒนาขายแฟรนไชส์ให้แก่รายย่อยอีกต่อหนึ่ง บริษัท ซีพี 7- อีเลฟเว่น มีฐานะเป็นแฟรนไชส์ซอล พูดง่ายๆก็คือ แฟรนไชส์ซอล เป็นผู้ขายแฟรนไชส์ นั่นเอง
แฟรนไชส์ซี ( Franchisee )
ผู้รับสิทธิในการดำเนินธุรกิจตามระบบที่เจ้าของสิทธิได้จัดเตรียมไว้ รวมทั้งได้ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดยที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการให้สิทธิอันนั้น รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทนตามผลประกอบการด้วย ซึ่งก็คือผู้ซื้อแฟรนไชส์นั่นเอง
แฟรนไชส์ฟี ( Franchise Fee ) 
ค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน จะจ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน หรือเรียกว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิต่างๆ ให้แก่บริษัทแม่
รอยัลตี้ฟี ( Royalty Fee ) 
เป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง ตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเป็นเปอร์เซ็นต์ ต่อเดือน หรือต่อปี จากยอดขาย หรือบางที ก็อาจจะเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้าก็มี
Advertising Fee
ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง ตามสัดส่วนของการดำเนินงาน เพื่อนำไปใช้ในการโฆษณา ในส่วนนี้แฟรนไชส์ซอล อาจจะเรียกเก็บหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน
Franchise Package Fee
ค่าตอบแทนในระบบ หรือเทคนิคต่างๆ (เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกรวมๆ ถ้าพูดเมื่อไหร่ ก็ให้เข้าใจว่าหมายถึง ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์  ค่าอบรม ฯลฯ รวมเบ็ดเสร็จอยู่ในคำๆ เดียว )
Sub – Franchise / Individual Franchise 
ผู้รับสิทธิรายย่อย แบบตัวต่อตัว จากผู้ที่ได้รับสิทธิ หรือผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ ซึ่งอาจจะได้รับสิทธิในการเปิดกิจการแบบ
  • Single unit Franchise หมายถึง สิทธิในการเปิดดำเนินธุรกิจได้เพียง 1 แห่ง
  • Multi unit Franchise  หมายถึง สิทธิในการเปิดดำเนินธุรกิจ ได้หลายแห่ง
ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด เช่น แฟรนไชส์ซี คนที่1 ทำสัญญากับบริษัทแม่ เพื่อเปิดสาขา แฟรนไชส์ โดยในข้อตกลงกำหนดให้เปิดสาขาได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น การให้สิทธิลักษณะนี้ คือ Single unit ในขณะที่แฟรนไชส์ซี คนที่ 2 ก็ซื้อแฟรนไชส์เหมือนกัน แต่ได้รับสิทธิในการเปิดสาขา ได้มากกว่า 1 แห่ง การให้สิทธิลักษณะนี้ คือ Multi unit แต่ยังไงๆทั้งคู่ก็ไม่มีสิทธิที่จะขายแฟรนไชส์ต่อให้กับคนอื่น ไปเปิดสาขาได้ นอกจากจะเปิดเองเท่านั้น
Sub – Area License / Development Franchise

สิทธิแฟรนไชส์แบบพัฒนาอาณาเขต แฟรนไชส์ซอล จะให้สิทธิในการขยายกิจการ แก่แฟรนไชส์ซี ภายในอาณาเขต และระยะเวลา ที่กำหนด เช่น ตันตราภัณฑ์  เป็น Sub – Area ของ 7-อีเลฟเว่น ที่มีสิทธิเปิดร้าน 7-อีเลฟเว่น ครอบคลุมในพื้นที่ภาคเหนือ ในเขตจังหวัดที่ตกลงกันไว้ หรือ เอเอ็ม/พีเอ็ม มีห้างแฟรี่แลนด์ เป็น Sub – Area  License  ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถขยายกิจการได้มากถึง 10 สาขาในจังหวัดนครสวรรค์
Master Franchise
ผู้ที่ได้รับสิทธิ จากบริษัทแม่ให้ดำเนินธุรกิจเป็นรายแรกในประเทศหนึ่ง และมักจะเป็นรายใหญ่ ที่จะต้องทำการขยายสาขาออกไปให้ทั่วประเทศ ผู้ที่เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ นี้ จะได้รับการถ่ายทอดในเรื่องการบริหารในระดับที่สูงขึ้น
เมื่อทราบถึงคำศัพท์ต่างๆ ของแฟรนไชส์พอสมควรแล้ว เราลองมาเรียนรู้กฏกติกามารยาทของ แฟรนไชส์ดูว่า  จะช่วยให้เข้าใจแฟรนช์ไชส์ได้อีกมากน้อยแค่ไหน
กฏข้อที่ 1  แฟรนไชส์เหมือนคู่สมรสกัน
กฏข้อนี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง FRANCHISOR ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากันเพื่อร่วมกันทำธุรกิจภายใต้แผนงานของแฟรนไชส์  ซึ่ง FRANCHISEE จะตอบแทนในรูปของการชำระค่าสิทธิ คือ FRANCHISE FEE  และ ROYALTY  FEE ซึ่งดูเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนกันทางธุรกิจ   แต่ที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของแฟรนไชส์ควรเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบของความเข้าใจกัน   ความเห็นใจซึ่งกันและกันมากกว่าจะคิดถึงผลประโยชน์ของกันและกัน เพราะความสัมพันธ์ที่มุ่งผลประโยชน์จะไม่ยืนนาน   พอขัดกันที่ผลประโยชน์  ความสัมพันธ์จะขาดสะบั้นลง   และติดตามมาด้วยการฟ้องร้องต่อศาลหรืออย่างน้อยๆ ก็จะไม่มองหน้ากัน  ดังนั้นแฟรนไชส์ควรคำนึงถึงความชอบพอกันก่อน   เวลาจะเลือกแฟรนไชส์อย่าเพิ่งพูดถึงผลประโยชน์  ให้เปิดใจคุยกันก่อนว่า  คุณเป็นใคร  มีความรู้ความสามารถแค่ไหน  มีเงินลงทุนหรือไม่  ทำไมจึงอยากทำธุรกิจของเรา  นิสัยเป็นอย่างไร  ทั้งสองฝ่ายต้องศึกษากันให้ดีก่อน  เมื่อเข้าใจกันแล้วจึงค่อยคุยกันเรื่องธุรกิจ  ทำอย่างนี้ความสัมพันธ์จึงจะยาวนานเหมือนทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน  จึงจะทำให้แฟรนไชส์นั้นประสบความสำเร็จทั้งคู่เหมือนการเลือกคู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องดูใจกันในระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงตกลงปลงใจแต่งงานกัน  ไม่ใช่มองแต่เงินว่า  ใครมีเท่าไหร่  ใครจะจ่ายเท่าไหร่  ผลประโยชน์ข้างหน้าเอาแต่เงินทุกอย่าง  แฟรนไชส์แบบนี้จะอยู่ได้ไม่นานครับ
ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวเมืองไทยซึ่งเจ้าของขายลูกชิ้นอยู่  เมื่อมีคนมาขอซื้อลูกชิ้นไปทำก๋วยเตี๋ยวก็ให้  คิดเงินบ้างไม่คิดบ้างอาศัยช่วยๆ กันไปจนมีหลายร้อยสาขา   อย่างนี้จึงจะคบกันยืด  ไม่ใช่คุยแต่ผลประโยชน์  บางทีขายก๋วยเตี๋ยวแต่ทำในรูปแบบแชร์ลูกโซ่  เก็บเงินเท่านี้  ผลตอบแทนเท่านี้  ดูเปอร์เซ็นแล้วกว่า 300 เปอร์เซ็นต่อเดือน  พอคนแห่ลงทุนก็ปิดหนีไปเลย  อย่างนี้แหละครับ แฟรนไชส์ที่มองแต่ผลประโยชน์  มักไปไม่ค่อยไกล
กฏข้อที่ 2  แฟรนไชส์ต้องยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
แฟรนไชส์ที่ดีต้องคำนวณผลได้ผลเสียให้เรียบร้อยในรูปแบบการแบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัว
แฟรนไชส์ฟรีค่าธรรมเนียมรายเดือน  เมื่อคุยกันแล้ว Franchisee ตกลงใจที่จะทำ  ผลประโยชน์นั้นก็จะเกิดความยุติธรรมทุกฝ่าย  ดังนั้น ตัวเลขการลงทุนต้องแม่นยำมาก   Franchisor ควรมีสาขามากพอที่จะแน่ใจว่าแผนการตลาดทำรายได้เข้าเป้าทุกสาขา  และตัวเลขการลงทุนแม่นยำพอ   และระยะเวลาคืนทุนควรอยู่ในระยะเวลาของอายุสัญญาที่ทำกันก็จะทำให้ผู้ลงทุนไม่ผิดหวังกับการลงทุนเพราะการที่ Franchisee ซื้อแฟรนไชส์ก็เพราะต้องการลงทุน และมั่นใจกับธุรกิจที่ลงทุนว่าตัวเลขถูกต้อง  ก็จะประสบความสำเร็จทั้งสองฝ่าย  จำไว้เลยว่าผลงานของ Franchisor คือ ความสำเร็จของ Franchisee นั่นเอง
หลังจากรู้กฏไปเบื้องต้นแล้วลองมาดูข้อได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ที่จะทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์บ้างว่าเป็นอย่างไรครับ  ฉบับนี้ขอเสนอด้านผู้ให้สิทธิก่อน คือ  Franchisor ครับ
ข้อได้เปรียบของผู้ให้สิทธิ์
  1. ช่องทางการทำรายได้ในเขตต่างๆมากขึ้น ซึ่งบริษัท Franchisor ไม่สามารถทำได้เอง  โดยไม่ต้องเปลืองทรัพยากรด้านการจัดการและการเงิน
  2. ไม่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องคน สามารถมุ่งในด้านการจัดการอื่นๆเช่นวิจัยและออกแบบ(Research &Design) พัฒนาระบบ,การตลาด,การจัดหาสินค้า,การฝึกอบรม ฯลฯ รวมทั้งสามารถ  มุ่งความสนใจในการแก้ปัญหาในพื้นที่เฉพาะเขต
  3. สามารถกระจายสินค้าได้กว้างขวางขึ้นและมั่นใจได้ว่ามีร้านค้าสำหรับกระจายสินค้า และบริการสู่ตลาด
  4. โปรแกรมของ Franchise บางชนิดมีความสามารถในการรับผิดชอบลูกค้าในระดับประเทศได้
  5. ระบบ Franchiseสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจนั้นได้
  6. ระบบ  Franchise คืออีกวิธีหนึ่งในการขยายธุรกิจ โดยที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจนั้นเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  มีผลกำไรที่พอสมควร
  7. มีโอกาสได้ผู้บริหารที่ดีในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง
  8. องค์กรธุรกิจที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในด้านต่างๆ เพียงจำนวนหนึ่ง  ก็สามารถจัดการและดำเนินธุรกิจในเครือข่าย  Franchise ได้แล้ว
  9. สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการลงทุนมาก
  10. การให้ผู้รับสิทธิ์เป็นผู้ลงทุนในการทำธุรกิจมีส่วนช่วยจูงใจให้ผู้รับสิทธิ์สามารถทำธุรกิจนั้นๆ ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น และนั่นย่อมหมายถึงผลสำเร็จของระบบ   Franchise ด้วย
  11. ในขณะที่ Franchise  กำลังเติบโตยิ่งขึ้น   การรวมกลุ่มพลังในการจัดซื้อจะยิ่งอำนวยประโยชน์และกำลังในการจัดซื้อมากขึ้น
  12. Franchisee มักจะเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งรู้จักสภาพตลาดท้องถิ่นดีกว่า
ข้อเสียเปรียบของผู้ให้สิทธิ์
  1. ผลเสียที่สำคัญอย่างมากอย่างหนึ่งคืออาจจะทำให้ผู้ให้สิทธิ์ไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานในเครือข่ายได้
  2. ผู้ให้สิทธิ์จะต้องแน่ใจว่ามาตรฐานของสินค้าและบริการในระบบFranchiseจะคงความเป็นมาตรฐานเดียวกัน
  3. ความยากลำบากในการหา Franchisee ได้ตามคุณสมบัติที่ต้องการ
  4. หน่วยที่บริษัทเป็นเจ้าของสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนได้มากกว่าหน่วยที่เป็นFranchiseหรือในทางกลับกัน
  5. ผู้รับสิทธิ์อาจจะไม่เปิดเผยรายรับที่แท้จริง    ซึ่งเป็นพื้นฐานของค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้สิทธิ์
  6. Franchise ที่เป็นระบบดี  เมื่อพบกับผู้ให้สิทธิ์ที่ไม่ดี  อาจพบกับการขัดแย้ง (ผู้รับสิทธิ์รวมหัวกันไม่จ่ายค่า  Fee )
  7. ปัญหาที่เกิดจากสัมพันธภาพในการทำงานกับผู้รับสิทธิ์

ปรับแผน.... เพื่อชัยชนะ ด้วย SWOT Analysis

ธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) การทำธุรกิจในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ การวางแผนธุรกิจ ซึ่งเกิดจากการระดมความคิด และวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุป นำมากำหนดเป็นแผนงานและเป้าหมายธุรกิจ ที่พร้อมจะนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายในอนาคต 
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เส้นชัยนั้น มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จึงต้องมีอุปสรรค ต่างก็จะเจอปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและความยากง่ายในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ
เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า " การปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และทันท่วงที คือหนทางแห่งชัยชนะที่แท้จริง " สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารต้องมี คือ ความมุ่งมั่น ทะเยอ ทะยาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะพบอุปสรรคใดๆ ก็จะต้องนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จให้ได้ แต่ถ้าขาดการปรับตัวที่ชาญฉลาด ก็อาจทำให้ธุรกิจประสบความล้มเหลวได้ทุกเมื่อ อย่างที่มักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า "พลาดครั้งเดียว มีสิทธิ์ล้มได้" ซึ่งคำนี้จะไม่เกิดขึ้น หากเรามีการวางแผนที่ดีและสามารถปรับแผนงานฯ ให้ทันต่อสถานการณ์ โดยไม่ปล่อยให้ลุกลาม บานปลายไปมากกว่านี้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ "ปรับตัวทัน" ก่อนที่มันจะสาย
หลายคนยังมองไม่ออกเลยว่า จะเริ่มต้นปรับแผนตรงไหนดี ยังไม่รู้เลยว่าจุดไหนควรปรับ ไม่ควรปรับ ปรับแผนตรงไหนก่อน - หลัง ฯ เป็นต้น วิธีการหนึ่งที่จะขอนำมากล่าวในที่นี้ ก็คือ การนำหลักทฤษฎีวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค หรือ SWOT Analysis ของ อัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) ผู้คิดค้นทฤษฎีนี้ 
การวิเคราะห์สวอต (SWOT Analysis) หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง เช่น การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ หรือ การวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม แล้วแต่ใครจะใช้คำเรียกอย่างไร ซึ่ง SWOT เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ สำหรับองค์กร หรือโครงการ ซึ่งช่วยผู้บริหารกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบที่มีศักยภาพจากปัจจัยเหล่านี้ต่อการทำงานขององค์กร และการดำเนินธุรกิจ
เรามาดูกันว่า การนำ SWOT มาใช้ในการปรับแผนงานธุรกิจ เพื่อชัยชนะมีอะไรบ้าง โดยการใช้ทฤษฎี SWOT Analysis มาเป็นตัวชี้วัด ทิศทางการดำเนินแผนงานธุรกิจ ว่าจะปรับปรุงแผนไปในทิศทางใดและทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งก่อนการจะนำมาวิเคราะห์ จะต้องเข้าใจความหมายของคำแต่ละคำเสียก่อน จึงจะสามารถนำมาวิเคราะห์ปรับใช้ในการปรับแผนงานธุรกิจได้ เริ่มจาก
S มาจาก Strengths คือ จุดเด่นหรือจุดแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นข้อดีที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในบริษัท เช่น จุดแข็งด้านส่วนประสม จุดแข็งด้านการเงิน จุดแข็งด้านการผลิต จุดแข็งด้านทรัพยากรบุคคล เราสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาด แผนงานธุรกิจได้
การปรับแผนโดยใช้ S ต้องดูว่าเรามีจุดแข็งอะไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถปรับแผนสนับสนุนให้จุดแข็ง มีความเข้มแข็งหรือมีจุดเด่นมากยิ่งขึ้นและเหนือกว่าคู่แข่งขันอยู่ตลอดเวลา ต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร มีวิธีการอะไร เพื่อเสริมจุดแข็งให้กับธุรกิจ ซึ่งแผนงานธุรกิจที่ดี ควรเน้นไปที่จุดแข็งให้ได้มากที่สุด
W มาจาก Weaknesses คือ จุดด้อยหรือจุดอ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในต่างๆ ของบริษัท ซึ่งบริษัทจะต้องหาวิธีในการแก้ปัญหานั้นๆ ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและแผนงานธุรกิจ 
การปรับแผนโดยใช้ W เราต้องดูว่า เรามีจุดอ่อนที่ยังไม่ได้แก้ไข อะไรบ้าง รวมถึงจุดอ่อนที่เกิดขึ้นใหม่ ในระหว่างการดำเนินแผนงานธุรกิจ สามารถปรับจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการโจมตีจากคู่แข้งขัน หรือหากสามารถปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งได้ ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ควรวางแผนแนวทางธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อน อันจะนำมาซึ่งข้อได้เปรียบ เสียเปรียบของการดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต
O มาจาก Opportunities คือ โอกาส ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกของบริษัทเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กร โอกาสแตกต่างจากจุดแข็งตรงที่โอกาสนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่จุดแข็งนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายใน ซึ่งนักบริหารที่ดีจะต้องเสาะแสวงหาโอกาสอยู่เสมอ และใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้นให้ได้มากที่สุด
จากการปรับแผน โดยใช้ O มาวิเคราะห์ว่า โอกาสที่มีอยู่ สามารถวางแผนงานธุรกิจให้ไปสู่โอกาสทางธุรกิจได้อย่างไรและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงแผนงานอะไรได้บ้าง เพื่อให้ธุรกิจได้รับโอกาสทางธุรกิจ และสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจได้
T มาจาก Threats คือ อุปสรรค ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องและพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้จริง
การปรับแผน โดยใช้ T อุปสรรค มาเป็นแนวทางในการแก้ไข ข้อบกพร่อง ทำอย่างไร จะสามารถลดอุปสรรคให้เหลือน้อยที่สุดได้อย่างไร ด้วยวิธีการอะไร หรือแก้ไขอุปสรรคให้เป็น โอกาสธุรกิจได้อย่างไร ทั้งนี้ ก็เพื่่อให้แผนงานที่ดำเนินอยู่ เป็นไปในทิศทางที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคขึ้นได้ในอนาคต เปรียบเหมือนหนทางที่ดำเนินธุรกิจ หากหนทางนี้ไม่สะดวก เราก็ควรหาหนทางใหม่ ที่สะดวกมากว่า เพื่อเป็นแนวทางธุรกิจต่อไป 

เป็นยังงัยบ้างครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์ที่จะทำให้นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่าน สามารถนำไปปรับใช้กับแผนงานธุรกิจได้ และรู้หนทางในการเอาตัวรอดจากเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และนี่ก็เป็นอีกหนทางที่จะทำให้ท่านสามารถนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายให้ตลอดรอดฝั่งได้ในที่สุด


.. ไม่มีการเริ่มต้น ก็จะไม่มีสิ้นสุด ..
.. T. Tinthanakit ..

credit : bisnescafe.com

คนจะรวยช่วยไม่ได้ เตรียมรวยซะให้เข็ด

คนจะรวยช่วยไม่ได้ เตรียมรวยซะให้เข็ด จงกล้าที่จะบ้าและซ่าส์ให้ถึงที่สุด เพราะต่อจากนี้ไปจะรวยไม่รู้เรื่อง 
เขาทำเงินได้หลายแสนเหรียญต่อชั่วโมงในตอน­กลางวัน เขาผลาญมันเร็วยิ่งกว่าในตอนกลางคืน... เรื่องราวการขึ้นสู่จุดสูงสุดและลงสู่จุดต่ำสุดของโบรคเกอร์หนุ่มที่ถูกทุกคนในวงการ­เรียกว่า "หมาป่าแห่งวอลล์สตรีท" 
The Wolf of Wall Street : “คนจะรวย ช่วยไม่ได้”  ภาพยนตร์ฮอลลิวู้ด ปี 2556 ที่สร้างจากเรื่องจริงของประธานบริษัทโบรกเกอร์ชื่อดัง “จอร์แดน เบลฟอร์” การดำเนินเรื่อง โดยเริ่มตั้งแต่สมัยทำงานเป็นโบรกเกอร์วันแรก จนทำเงินมหาศาล แล้วก็ผลาญเงินไปกับอบายมุขทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้เหล้า ยา หรือแม้แต่เซ็กส์ จนกระทั่งในปี 1998 เขาถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงตลาดหลักทรัพย์และติดคุกในเรือนจำของรัฐ
และถูกแบนจากตลาดหุ้นไปตลอดชีวิต ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการแสดงของ ลีโอนาโด ดิคาปริโอ และผลงานการกำกับโดยสุดยอดผู้กำกับ มาร์ติน สกอเซซี่ย์
ซึ่งหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวการใช้ชีวิตหลายแง่มุม โดยเฉพาะด้านการเงิน ที่ต้องมีหลักการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีความสุขและสนุกไปกับการลงทุน ซึ่งแง่คิดหนึ่งที่น่าสนใจมาจากประโยคที่ว่า “ไม่มีใครรู้ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง” ... บทเรียนอันเป็นหัวใจสำคัญที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่คุณผู้อ่านสามารถนำข้อคิดจากภาพยนตร์มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ด้วยเทคนิคเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "การพึ่งพามืออาชีพ" "การสร้างความมุ่งมั่นและตั้งใจ" "การมองเห็นอนาคตได้" ที่จะสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ "การสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อเพิ่ม Connection" "การเรียนรู้รสนิยมด้านการลงทุนของตนเอง" "การให้ความสำคัญกับความล้มเหลว เพื่อสร้างเป็นแรงขับ" และสุดท้าย "คือการรอบรู้ในสิ่งที่ตนเองกำลังให้ความสนใจ" เพราะสิ่งนี้จะทำให้คุณรวยได้แบบไม่รู้เรื่อง รวยซะให้เข็ด...
คอนักลงทุนหรือคอหุ้นไม่ควรพลาด เพราะมันจะเป็นแรงบันดาลใจในแง่ของการลงทุนที่คุณเองอาจจะไม่รู้ตัวว่า แท้ที่จริงแล้ว มันมีอยู่ในตัวตนของคุณทุกคน หากแต่ว่าคุณจะใช้มันอย่างไรให้เกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นมาได้.. เหมือนคำกล่าวที่ว่า "ดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง" 
ท้ายที่สุดนี้ คุณต้อง “ไม่ลืมเรื่องการบริหารความเสี่ยง” ดังเช่นสถาบันการเงินหลายแห่งได้กล่าวไว้ “การลงทุนมีความเสี่ยง” จึงควร “กระจายความเสี่ยงในแง่ของการลงทุน” ซึ่งนั่นก็คือแนวทางของหมาป่า แห่งวอลสตรีท ผู้กระหายความร่ำรวย ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

เตรียมพบกับภาคเนื้อหาฉบับเต็ม พร้อม Inforgrafic ประกอบเรื่อง เร็วๆ 

ขอได้รับความขอบคุณ
จาก ฺWeb Admin
ภาพประกอบจาก Internet, MoviesMpictures