5/19/2554

แฟรนไชส์ ไม่ใช่แค่แต่งงาน

| 0 ความคิดเห็น
มีคนบอกผมอยู่เรื่อยครับว่า แฟรนไชส์ก็เหมือนการแต่งงานเพราะการอยู่ร่วมกันของเจ้าของธุรกิจกับผู้ลงทุนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในระบบแฟรนไชส์ ต้องอยู่ร่วมกันประนีประนอมต่อกันอย่างคู่สมรสที่ดีเหมือนช้อนส้อมที่ต้องมีกระทบกันบ้างแต่ต้องต่างคนต่างช่วยเหลือประคองอาหารเข้าปาก อะไรจะปานนั้น แต่ผมว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เพราะถ้าเปรียบเทียบกับการแต่งงาน วันนี้คู่สมรสอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูง และบางคู่ก็อยู่ก่อนแต่งซะส่วนมาก

ซึ่งระบบแฟรนไชส์ทำอย่างงั้นไม่ได้ เอ ไม่รู้ผมคิดมากไปหรือเปล่าครับ

แฟรนไชส์เป็นระบบธุรกิจที่จะต้องประสานประโยชน์ รวมกลุ่มและมีความสัมพันธ์ด้านธุรกิจใกล้ชิด อาศัยระบบงานเป็นตัวหลัก ในการดำเนินการ มีข้อปฏิบัติชัดเจน ต่างคนต่างเคารพต่อหน้าที่และสานประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

บริษัทที่เป็นบริษัทแม่เจ้าของธุรกิจหรือแฟรนไชส์ซอร์ก็ต้องอาศัย ผู้ร่วมลงทุนในระบบที่เรียกว่าแฟรนไชส์ซี ในการสร้างยอดขายสร้างการเติบโตของระบบธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยช่วยเหลือประคองให้ธุรกิจของสมาชิกประสพความสำเร็จ อย่างใกล้ชิด การช่วยเหลือต้องมีการจัดเตรียมทีมงานและวิธีการเฉพาะในกรณีต่างๆ เช่น ถ้ายอดขายไม่ถึงตามคาดหมายเนื่องจากมีคู่แข่งมาเปิดใกล้ร้าน ต้องแก้ไขกันอย่างไรมีทีมงานที่จะช่วยส่งเสริมการขายคอยกระตุ้นลูกค้าในพื้นที่ได้เลย เตรียมพร้อมทั้งสื่อ ใบปลิว กิจกรรมเร่งยอดต่างๆ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ระบบการช่วยเหลือร้านค้าในระบบแฟรนไชส์

การทำธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ที่มาลงทุนก็ไม่ได้คาดหวังเพียงว่า จะมีอาชีพเฉพาะเรื่องราวที่ดำเนินอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ซื้อแฟรนไชส์ไก่ มาก็รู้แต่เรื่องทอดไก่ อย่างเดียว อย่างนี้มันก็ไม่สมกับเป็นการสร้างนักธุรกิจ เมื่อมีระบบแฟรนไชส์ที่ดีแล้ว บริษัทแม่ก็ต้องมีการอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการ การตลาด การบริหารงานด้านอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เป็นการพัฒนาบุคลากรไปด้วย แฟรนไชส์ซีก็รู้สึกถึงความเอาใจใส่และเชื่อมั่นในองค์กรมากขึ้น คุณภาพของระบบงานก็จะมีการพัฒนาไม่หยุดอยู่กับที่

สิ่งที่ผมพูดถึงนั้นไม่ใช่ฝันไป เราจะเห็นได้จากระบบงานที่เป็นระบบ ดีลเลอร์หรือร้านตัวแทนขายสินค้าทั่วไป อย่างที่ยกตัวอย่างได้ เช่น ดีลเลอร์ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ธุรกิจด้านรถยนต์ แม้กระทั่งร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บริษัทแม่มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้กับ ร้านค้าสมาชิกอย่างต่อเนื่อง นี่คือรูปแบบระบบช่วยเหลือในรูปแบบแฟรนไชส์ที่เห็นได้ ว่าไม่เกินเลยเกินไป การสร้างระบบความสัมพันธ์อย่างนี้จะต้องมีเพื่อเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กร ความเข้มข้นของกิจกรรมอาจจะแตกต่างกันตามลักษณะธุรกิจและผลตอบแทนที่จะได้

อย่างไรก็ตามต้องเน้นย้ำว่า ธุรกิจระบบแฟรนไชส์ เป็นการสร้างธุรกิจที่เข้มแข็งจากการสร้างตลาดและภาพพจน์สินค้าที่ดี หลังจากนั้นก็มีการสร้างความต่อเนื่องด้วย ระบบงาน ที่ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวเป็นร้านสาขาอย่างเป็นระบบมีมาตรฐาน สุดท้ายระบบธุรกิจแบบนี้จะยืนนานได้ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างหมู่สมาชิก กับบริษัทแม่ที่เป็นแฟรนไชส์ซอเป็นอย่างดี จึงจะทำให้ธุรกิจยืนนาน นี่แหละคือ รักยืนนานของงานแฟรนไชส์ที่มากกว่า การแต่งงานอีกนะครับ เห็นด้วยใหมล่ะครับ.

 

Credit By : Peerapong.com

 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น